ศิลปะแห่งศรัทธา ในงาน “ประเพณีบุญคูณลาน เล่าขานตำนานเมืองลุ่มภู และงานแสดงราชินีข้าวเหนียวพร้อมกด Like ภาพชิ้นงานที่ชื่นชอบและ share สาธารณะ ก่อนเวลา 12.00 น.วันที่ 5 ธค.64 ณ ลานวัฒนธรรมสนามสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ร่วมฉลองครบจังหวัดหนองบัวลำภู ปีที่ 28
ที่บริเวณลานวัฒนธรรม หน้ารูปจำลองพระวอพระตา ภายในสนามนเรศวรมหาราช อำเภอเมืองหนองบัวลำภู นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ ผวจ.หนองบัวลำภู เป็นประธานในการเปิดงานประเพณีบุญคูณลาน เล่าขานตำนานเมืองลุ่มภู และงานแสดงราชินีข้าวเหนียว ร่วมเฉลิมฉลองครบวันสถาปนาจังหวัดหนองบัวลำภู ปีที่ 28 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2564 โดยมีนายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการในระดับจังหวัด นายอำเภอทุกอำเภอ และ บุคลากรในสังกัดสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมในพิธี
นางศิวพรฯผวจ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า“ข้าว” ถือว่าเป็นผลผลิตที่สำคัญของประเทศไทย เป็นสิ่งสำคัญที่ชาวนาในประเทศนั้นมีความเชื่อถือเกี่ยวกับพระแม่โพสพ ข้าวจึงถือว่าเป็นสิ่งวิเศษของชาวนาภาคอีสาน และเพื่อให้ชาวหนองบัวลำภู ได้ชื่นชมในศิลปะแห่งการตกแต่งและให้ความสำคัญในเรื่องข้าว โดยเฉพาะข้าวเหนียว ซึ่งเป็นที่นิยมชื่นชอบของคนอีสาน ประกอบกับข้าวของจังหวัดหนองบัวลำภูได้ชื่อว่าเป็นราชินีข้าวทั้งข้าวเหนียว ผัวหลงหนองบัวลำภู เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองและข้าวพันธุ์ กข 6 ที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภูที่มีความเหมาะสมกับสภาพดินฟ้า อากาศ เมื่อเก็บเกี่ยวและสีเป็นข้าวสารแล้วจะได้เมล็ดเต็ม เรียวเล็ก เมื่อนำมาหุงหรือนึ่งและเก็บไว้ในภาชนะปิดสนิท ได้แก่ กระติ๊บข้าว ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า “ ก่องข้าว ”จะอยู่ได้นานมีความหอม อ่อนนุ่มไม่ติดมือ ไม่แห้งและแข็งกระด้าง
จากนั้นก็เป็นพิธีบวงสรวงบายศรีสู่ขวัญข้าว โดยมีเครื่องเชิญขวัญที่เรียกว่า “บายศรี” และผู้นำทำพิธีเรียกว่า “หมอขวัญ” ซึ่งเป็นพิธีกรรมในการเรียกขวัญข้าว เรียกขวัญพระแม่โพสพที่ตกหล่นตามท้องนาขึ้นสู่ยุ้งฉาง เมื่อบายศรีเสร็จ ได้เยี่ยมชมการประดับประดาตกแต่งปราสาทข้าว ราชินีข้าวเหนียวตัวแทนของเกษตรกรทั้ง 6 อำเภอที่เป็นศิลปะแห่งศรัทธา ปราสาทรวงข้าวจำลอง บริเวณจัดงานลานวัฒนธรรม ซึ่งเป็นศูนย์รวมกิจกรรมและเป็นที่ตั้งของปราสาทรวงข้าว
ด้านนายอำพน ศิริคำ เกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวเพิ่มเติมว่าในโอกาสเดียวกันนี้ได้จัดให้มีการตกแต่งปราสาทข้าวราชินีข้าวเหนียวพร้อมบรรยายแนวคิดที่สื่อถึงความเป็นราชินีข้าวเหนียวให้สอดคล้องกับการตกแต่งปราสาทข้าวที่สื่อถึงความเป็นราชินีข้าวเหนียวของจังหวัดหนองบัวลำภู รูปแบบปราสาทข้าวให้เป็นไปตามประเพณีที่สื่อถึงความเป็นราชินีข้าวเหนียว สามารถตกแต่งไฟประดับได้ มีวัสดุและอุปกรณ์ ผู้ประกวดจัดเตรียมเอง ตกแต่งด้วยรวงข้าวและวัสดุที่เกี่ยวข้องให้สวยงามและให้จัดแสดงไว้ได้ตลอดงาน
สำหรับหลักเกณฑ์การให้คะแนนและตัดสินการประกวด ดูจากยอดจำนวนผู้กด Like ภาพถ่ายชิ้นงานของแต่ละอำเภอ ทางเพจสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู โดยผู้ให้คะแนนกด Like ภาพชิ้นงานที่ชื่นชอบและ share สาธารณะ ให้คะแนน 1 Like เท่ากับ 1 คะแนน พร้อมโพสภาพถ่ายคู่ปราสาทข้าวราชินีข้าวเหนียวที่ชื่นชอบ พร้อมติดแฮชแท็ก #ราชินีข้าวเหนียวหนองบัวลำภู และผู้ให้คะแนนลุ้นรับรางวัลในวันประกาศผลฯการตัดสินและมอบรางวัลในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ณ ลานวัฒนธรรม โดยปราสาทข้าวราชินีข้าวเหนียวที่ได้รับการตัดสินการประกวดปราสาทรวงข้าว ราชินีข้าวเหนียว จะได้รับเงินชนะเลิศเงินสด 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1ได้รับเงินสด 7,000 บาทรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับเงินสด 6,000 บาท พร้อมรางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัลๆ ละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตรจากผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู
สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์/ปรานี ผาดำ ขตว.จังหวัดหนองบัวลำภู