เขื่อนอุบลรัตน์ ปิดบานประตูระบายน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง หลังระบายน้ำออกจากเขื่อนในช่วงน้ำท่วม และสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำเริ่มคลี่คลายแล้ว ขณะที่กรมประมงเข้าสำรวจและนำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาที่อาศัยอยู่ใกล้กับประตูระบายน้ำ เพื่อนำไปปล่อยในพื้นที่อนุรักษ์และขยายพันธุ์ต่อ
วันที่ 24 พ.ย. 64 ที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น นายประสิทธิ์ อุปชิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันทำการปิดบานประตูระบายน้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ภายหลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เหนืออ่างฯ เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อยลง จึงต้องปิดประตูระบายน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยหลังจากที่ประตูระบายน้ำบานสุดท้ายปิดลง เจ้าหน้าที่จากกรมประมง ได้น้ำอุปกรณ์และเครื่องมือเข้ามาติดตั้ง เพื่อใช้สำหรับช่วยเหลือและนำพันธุ์ปลาแต่ละชนิด ที่อยู่บริเวณด้านหน้าประตูระบายน้ำที่ไม่สามารถว่ายผ่านโขดหินลงสู่ลำน้ำพอง ให้ลงสู่ลำน้ำพองพองไปได้ เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
นายประสิทธิ์ อุปชิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 กล่าวว่า การปิดประตูระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เกิดความสมดุล หลังจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าอ่างเริ่มลดลงแล้ว ปัจจุบันมีน้ำไหลเข้าอ่างฯ ประมาณวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร การปิดการระบายน้ำจึงเป็นไปเพื่อเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างพื้นที่หัวน้ำกับท้ายน้ำ อย่างไรก็ตาม การระบายน้ำต่อจากนี้จะยังมีอยู่ แต่ก็จะเป็นระบายผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเท่านั้น คือวันละประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม่เกินความจุของลำน้ำพอง และปริมาณน้ำเก็บกักขณะนี้ยังเพียงพอต่อการทำการเกษตรในปีถัดไป
ด้านนายสมศักดิ์ ทองหุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากที่เขื่อนอุบลรัตน์ ได้มีการปิดประตูระบายน้ำ หน่วยงานประมงที่อยู่ในจังหวัดขอนแก่น ได้ทำการขนย้ายปลาซึ่งอยู่บริเวณหน้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อนำไปปล่อยคืนลงไปลำน้ำคลอง เพื่อเป็นการรักษาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่จะไปเพิ่มผลผลิตในปีหน้า โดยทางเจ้าหน้าที่ประมงจะรวบรวมพันธุ์ปลาต่าง ๆที่มีอยู่ออกไปให้ได้มากที่สุด ส่วนพันธุ์ปลาที่หายากที่ใกล้สูญพันธุ์บางชนิด จะมีการนำไปสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ แล้วเพาะขยายพันธ์ลงไปในแหล่งน้ำ เช่น ลุ่มน้ำชี ลุ่มน้ำมูล
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดขอนแก่น ยังเผยอีกว่า ปลาที่หายากที่พบในวันนี้ คือ ปลาหมู ซึ่งเป็นปลาที่หายาก วันนี้ถือว่าโชคดีที่พบ โดยคาดว่าเป็นแหล่งที่ปลาหมูเข้ามาหากิน เพราะว่ามีแหล่งอาหาร เช่น ตัวหนอน และแมลงด้วยส่วนหนึ่ง โดยปลาหมู เราต้องบอกว่า เป็นพันธุ์ปลาที่รวบรวมได้ยาก บางครั้งพบเพียงแค่ 2-3 ตัว แม้ไม่ใช่ปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ แต่ก็เริ่มหายาก เพราะว่าปลาหมู เป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้ของปลาสวยงาม จึงมีการนำไปใช้ประโยชน์หลากหลาย