เมื่อเวลา 09.00 น. เมื่อวันที่ 5 พ.ย.64 ที่ศาลจังหวัดเลย นายอุดร แสวงผล กรรมการมูลนิธิพระธาตุศรีสองรัก นำดร.ถาวร เชื้อบุญมี เจ้าพ่อกวน และนางประกายมาศ เชื้อบุญมี เจ้าแม่นางเทียม 2 ผู้นำทางจิตวิญญาณของอำเภอด่านซ้าย และคณะพ่อแสน เดินทางมาในฐานะพยานให้แก่เทศบาลตำบลด่านซ้าย ฐานะผู้ร้องสอด โดยมีพยานอีกหลายนาย เช่น นายสันติภาพ เชื้อบุญมี อดีตนายกเทศบาลตำบลด่านซ้าย นายประสงค์ จันทะศร นายกเทศมนตรีปัจจุบัน นายสมบูรณ์ ช้างภู่ อดีตศึกษาธิการ อำเภอด่านผซ้าย และ นิติกรเทศบาลตำบลด่านซ้าย ร่วมเป็นพยานร้องสอด ในคดีหมายเลขดำที่ 102/2564 โดยนายกิตติพันธ์ ปฐมชัยเกียรติ ไวยาวัจกร ผู้รับมอบอำนาจ โดยพระสิริรัตนเมธี เจ้าอาวาสวัดโพนชัย ในนามรักษาการเจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีสองรักเป็นผู้มอบอำนาจ โดยมีอัยการจังหวัดเลยร่วมเป็นทนายให้พระธาตุศรีสองรัก
โดยเมื่อวันที่ 4 ก.พ.64 ทนายฝ่ายโจทก์ ฟ้องร้องกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 1 อธิบดีกรมที่ดินเป็นจำเลยที่ 2 และสำนักงานที่ดินจังหวัดเลย สาขาอำเภอด่านซ้าย เป็นจำเลยที่ 3 ขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) เนื้อที่ 106 ไร่ 3 งาน 91 ตารางวา ที่ออกให้เป็นที่สาธารณะประโยชน์ร่วมกัน โดยอยู่ในความดูแลของกระทรวงมหาดไทย ออกทับที่ดินของวัดพระธาตุศรีสองรัก
โดยในคำฟ้องระบุว่า ตามหนังสือรับรองสถานภาพวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ บันทึกไว้ว่าบริเวณพระธาตุศรีสองรักมีฐานะเป็นวัดมาตั้งแต่ พ.ศ.2103 ชาวบ้านเรียกว่า “วัดธาตุ” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ.2109 มีพระอุโบสถ มีศาลาการเปรียญ มีหอระฆัง และพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ 5 รูป เป็นวัดที่ได้รับการจัดตั้งถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 108 ไร่ 3 งาน 11 ตารางวา ซึ่งจำเลยทั้งสามทราบอยู่แล้วว่า ที่ดินบริเวณนี้เป็นวัด แต่ยังเพิกเฉย ไม่เพิกถอนหนังสือ นสล.ออก ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปบำรุง ดูแลรักษา ปฏิสังขรณ์เสนาสนะให้มั่งคงและอยู่ในสภาพพร้อมให้พระสงฆ์จำพรรษาได้
นายอุดร แสงผล กรรมการมูลนิธิพระธาตุศรีสองรักเปิดเผยว่า จากหลักฐานต่างๆ ทั้งพยานบุคคล เอกสาร และการปฎิบัติพิธีรกรรมประเพณีวัฒนธรรมของอำเภอด่านซ้ายสืบมากว่า 430 ปี ไม่มีสิ่งใดที่บ่งบอกเลยว่าพระธาตุศรีสองรักเป็นวัดมาก่อน ทางเทศบาลตำบลด่านซ้ายจึงเข้าร้องสอด เป็นจำเลยร่วม เจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียมและคณะก็ได้เดินทางมาเป็นพยานร่วมด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 43 ที่ระบุว่า ชุมชนมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น และของชาติ ซึ่งพระธาตุศรีสองรักที่สร้างขึ้นมานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเขตแดนระหว่างกรุงศรีอุธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุต อยู่กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำน่านกับแม่น้ำโขง เป็นเจดีย์สัญลักษณ์ความสัมพันธไมตรีระหว่างทั้งสองอาณาจักรว่าจะไม่รบราฆ่าฟันกัน จะมีแต่ความรักใคร่กลมเกลียว ไม่มีสิ่งใดที่บ่งบอกว่าเป็นวัด มีการดูแลรักษา มีประเพณีวัฒนธรรม พิธีกรรมตามความเชื่อ โดยมีเจ้าพ่อกวน เจ้าแม่นางเทียม คณะพ่อแสน นางแต่ง คอยดูแลสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่จะไม่ขอก้าวล่วงการพิจารณาของศาล โดยมีหลักฐานทั้งฝ่ายไทยและลาว ปรากฏในศิลาจารึก
ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์/ จ.เลย