เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม นางพิมกาญจน์ พลสมัคร อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี ประธานชุมชนวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบเกษตรสมาร์ฟาร์ม อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี เล่าว่า ได้ก่อตั้งกลุ่มนี้ขึ้นโดยได้ร่วมมือกับเกษตรอำเภอม่วงสามสิบ จัดทำ MOU ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพส่วนตำบลหนองเมือง อ.ม่วงสามสิบ จัดทำเอกสารขอร่วมโครงการผ่าน สำนักงานสาธารณสุขอำเภอม่วงสามสิบไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ผ่านคณะกรรมการ ปปส.จังหวัดอุบลฯ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯเห็นชอบผ่านไปยังสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข จนได้รับอนุญาตให้ร่วมกันปลูกพืชสมุนไพรไทยที่ขึ้นชื่อว่ามีสรรพคุณที่ช่วยรักษาโรคได้คือ พืชกัญชา โดยได้เริ่มปลูกกัญชาจำนวน 50 ต้น เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 เพื่อใช้ทางการแพทย์ ขณะเดียวกันวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบเกษตรสมาร์ฟาร์ม ก็มีความพร้อมในการเปิดพื้นที่ให้เป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องการปลูกกัญชาที่ถูกต้อง และอนาคตอาจจะเป็นเป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องวิธีการปลูก เทคนิคการปลูก การก่อสร้างโรงเรือน การขออนุญาต ตลอดจนการสนับสนุนสายพันธุ์กัญชา และพัฒนาสายพันธุ์ เพื่อผลักดันให้เกษตรกรจังหวัดอุบลราชขธานี ได้รับประโยชน์จากการปลูกกัญชาอย่างสูงสุด ที่นี่มีโรงเรือนมาตรฐาน มี การบริหารจัดการ แบบเกษตรอินทรีย์ปลูกกัญชารุ่นแรก 50 ต้น ซึ่งได้รับเมล็ดพันธ์มาจากกรมการแพทย์แผนไทย สายพันธุ์กัญชาที่นำมาปลูกได้แก่พันธ์ไทยหางกระรอก (sativa)
นางพิมกาญจน์ พลสมัคร กล่าวว่า มีความตั้งใจรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้นเพื่อปลูกพืชสมุนไพร “กัญชา” โดยได้รับคำแนะนำจากอดีต ส.ส.จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล ให้เข้ารับการอบรมโครงการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์ จากนั้นจึงได้รวมกลุ่มตั้งวิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบเกษตรสมาร์ฟาร์มขึ้น ในอนาคต ตั้งใจจะให้สถานที่แห่งนี้เป็นต้นแบบให้กับผู้ที่สนใจเป็นสถานที่ศึกษาดูงานแบบครบวงจร และอาจจะพัฒนาปรับปรุงพื้นที่รอบๆ เป็นจุดเช็กอิน สามารถถ่ายรูป หรือเซลฟี่ จากด้านนอกกับต้นกัญชาได้อย่างชัดเจน รวมทั้งจะมีการสร้างร้านกาแฟและร้านอาหารเล็กๆ ที่นำส่วนประกอบของกัญชา ราก ลำต้น ใบ มาเป็นวัตถุดิบในการปรุง อาหารและเครื่องดื่ม ให้บริการแก่คนในพื้นที่และกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมทั้งตั้งใจให้เป็นจุดเรียนรู้ต่อยอดให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ที่สนใจจะปลูกกัญชาทางการแพทย์โดยมุ่งเน้นสร้างรายได้คืนกลับสู่ชุมชนในทุกมิติ
สำหรับ วิสาหกิจชุมชนม่วงสามสิบเกษตรสมาร์ฟาร์ม เริ่มปลูกต้นกัญชา พันธุ์ไทยหางกระรอก (sativa) ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 โดยได้โควต้าในการปลูก 50 ต้น ในพื้นที่โรงเรือนขนาด 6*12 เมตร พื้นที่ทั้งหมด 10*20 เมตร ทางวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้ประโยชน์หรือจำหน่าย ใบ/กิ่ง/ราก/ลำต้น ส่วนดอกเมื่อโตเต็มที่ ให้ส่งมอบกับทางหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในพื้นที่