ขอนแก่น – “นิทรรศการ หลังฮ่าน” ผ่านผลงานภาพถ่าย ขาว-ดำ หนึ่งไฮไลต์ ใน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564” จัดถึง 15 ส.ค.นี้

สัมผัสเรื่องราวชีวิตจริงของศิลปินนักแสดง วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำ ใน “นิทรรศการ หลังฮ่าน” ผ่านผลงานภาพถ่าย ขาว-ดำ หนึ่งไฮไลต์ ใน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564” จัดถึง 15 ส.ค.นี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า ศิลปวัฒนธรรมไทย มีเอกลักษณ์ และมีเสน่ห์ แต่ละภูมิภาคต่างก็มีศิลปวัฒนธรรมหลากหลายแขนง และหากจะกล่าวถึงศิลปะความบันเทิงที่มีมาช้านานของภาคกลาง ก็ต้องนึกถึง ลิเก ลำตัด รำวง แต่หากเป็นภาคอีสาน น้อยคนนัก ที่ไม่รู้จัก “ลูกทุ่งหมอลำ” ที่สืบสาน รักษา พร้อมปรับตัว ต่อลมหายใจยืนหยัดอยู่มาได้ยาวนานจนทุกวันนี้นั้น มีเรื่องราวมากมายที่น่าค้นหา และพบได้ใน “นิทรรศการ หลังฮ่าน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ใน “เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564”(Isan Creative Festival 2021) ใต้แนวคิดIsan Crossing: อีสานโคตรซิ่ง” ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับจังหวัดขอนแก่น ผนึกพลังหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดขึ้น เพื่อสะท้อนการผสานสินทรัพย์ทางภูมิปัญญาเเละวัฒนธรรมเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม “อีสาน” ผ่านกิจกรรมต่างๆ กว่า 200 รายการ บนพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ ในจังหวัดขอนแก่น และทั่วภาคอีสาน ตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 สิงหาคม 2564

สำหรับ นิทรรศการ หลังฮ่าน (Hidden Life Behind the Show) จัดให้มีขึ้นที่ อาคารสมบัติทัวร์ – สถานีขนส่งปรับอากาศจังหวัดขอนแก่น นำเสนอผลผลงานภาพถ่ายที่บันทึกด้วยฟิล์ม ขาวดำ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตจริงของศิลปินนักแสดง หลังฮ่าน (เวที) ของ วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำอีสาน ซึ่งเป็นศิลปะอันทรงคุณค่าของชาวอีสาน ที่พร้อมจะเปิดเผยให้ชมในนิทรรศการครั้งนี้ ผ่านสายตาอันเฉียบคม หลังเลนส์ ของ “วชิระ ตราชู” ศิลปินช่างภาพมืออาชีพ คนดี ศรีขอนแก่น

วชิระ ตราชู หรือ เอิร์ท เล่าถึงแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพ “นิทรรศการ หลังฮ่าน” (The hidden life behind show) ให้ฟังว่า “เกิดจากการที่ผมได้กลับมารีโนเวทบ้านของตัวเองที่ขอนแก่น แม่ได้นำภาพเก่าๆ มาให้ เป็นภาพสมัยที่ปู่เริ่มธุรกิจผลิตยาแผนโบราณ และพ่อเป็นผู้รับช่วงธุรกิจในเวลาต่อมา ในสมัยนั้นเท่าที่จำได้ ที่บ้านจะมีรถเร่ฉายหนัง เพื่อออกไปโฆษณาขายยาตามหมู่บ้านต่างๆ ภาพเหล่านั้นได้โยงมาที่ความทรงจำวัยเด็กในช่วงเวลาเดียวกันอีกเรื่อง จำได้ว่าที่หน้าบ้านมีสำนักงานหมอลำชื่อ “สมศรีพัฒนา” มาขอเช่าอยู่ มีโปสเตอร์คณะหมอลำติดที่ข้างฝามากมายหลายคณะให้ผู้สนใจได้เลือกคล้ายเอเจนซี่รับจัดหาหมอลำไปแสดงตามงานต่างๆ และถนนรื่นรมย์ในช่วงเวลานั้น คือชุมทางหมอลำขนาดใหญ่ในนาม ‘บ้านพักทัมใจ’ ของบริษัทโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู)

 เอิร์ท วชิระ เผยด้วยว่า การบันทึกภาพเพื่อนำมาจัดแสดงครั้งนี้ เขาเลือกที่จะใช้ฟิล์ม “คงเพราะความอิ่มตัวจากการถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิทัลในนิทรรศการภาพถ่ายที่ผ่านๆ มา นิทรรศการครั้งนี้ ผมจึงอยากใช้กล้องฟิล์มในการทำงาน ด้วยเสน่ห์ของฟิล์ม คือ ข้อจำกัดในหลายๆ ด้าน ทำให้มีความท้าทายในการบันทึกภาพ โดยเฉพาะหลังฮ่าน (เวที) ที่สภาพแสงน้อย และมีความซับซ้อนของเสง อีกทั้งฟิล์มก็มีต้นทุนสูง จึงต้องละเอียดในการกดชัตเตอร์ในแต่ละภาพ ทุกครั้งเมื่อนำมาล้างสแกน ก็ต้องลุ้นอีกว่าภาพที่ได้จะเป็นอย่างไร หลายๆ ภาพก็ถ่ายไม่ทัน แสง over บ้าง under บ้าง ไม่ได้ภาพอย่างที่หวังไว้ ต้องกลับมาวิเคราะห์ แล้วกลับไปถ่ายใหม่อีกหลายรอบ  แต่ทุกรอบที่กลับไป ก็ได้พบเรื่องราวใหม่ๆ กลับมาแทบทุกครั้ง จนรู้สึกซึมซับความรู้สึก และมองเห็นพื้นที่ ที่เป็นชีวิตจริงของนักแสดง”

 ครั้นถามถึงเหตุผล ที่เลือกบันทึกภาพด้วยฟิล์มขาวดำ เอิร์ท บอกว่าเพราะอยากให้ภาพได้สื่อสารถึงอารณ์และความรู้สึกของคนหลังฮ่านเวที มากกว่าความสวยงามของสีสัน “หลังฮ่าน (เวที) เป็นชีวิตจริงต่างจากหน้าเวที เป็นพื้นที่เฉพาะที่ถูกซ่อนจากผู้ชมด้านหน้า และอีกเหตุผลหนึ่ง ที่เลือกใช้พิล์มขาวดำ เพราะเป็น Process ที่เริ่มต้น และจบเป็นภาพ ด้วยกระบวนการทางฟิล์มที่หลงเหลือในปัจจุบัน”

ทั้งนี้ นิทรรศการภาพถ่าย “หลังฮ่าน” (The hidden life behind show) ได้แบ่งเป็น 3 Part ดังนี้

  • Hidden life : นำเสนอภาพถ่ายบุคคล (Portraits) เล่าถึงความหลากหลายของอายุ ที่มา บทบาทหน้าที่ รวมถึง เพศสภาพ
  • Behind : เล่าถึงภาพชีวิตจริงหลังฮ่าน (เวที)
  • Show : เล่าถึงฉากบรรยากาศขณะแสดงหน้าเวที ที่ถูกบันทึกภาพจากหลังฮ่าน

กว่าจะได้ผลงานภาพถ่ายครบทุกแง่มุมที่ตั้งใจ เพื่อนำมาจัดแสดง เอิร์ท ต้องทุ่มเท และใช้เวลากับพันธกิจนี้ เกือบปีเลยทีเดียว “ผมใช้เวลาบันทึกภาพเหตุการณ์หลังฮ่างนี้ ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีที่ผ่านมา จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (2564) รวมระยะเวลานานกว่า 9 เดือน หลังฮ่าน (เวที) นั้น ผมเป็นเพียงผู้เฝ้ามองแต่ละฉากชีวิต ที่ค่อยๆ ดำเนินไป เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จึงค่อยกดชัตเตอร์บันทึกฉากนั้นไว้ โดยไม่ได้รบกวนชีวิตที่อยู่เบื้องหน้า (steal moment) ตลอดระยะเวลาที่ทำงานชุดนี้ ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับโอกาสถ่ายทอดชีวิตจริงของคนหลังฮ่านเวทีลูกทุ่งหมอลำอีสาน ซึ่งพวกเขาเหล่านั้น เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังที่คอยพยุงศิลปะการแสดงนี้ไว้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้มาชมนิทรรศการทุกท่านจะได้รับอรรถรส และมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเขาเหล่านั้นทำเช่นเดียวกับผมครับ” เอิร์ท วชิระ ทิ้งท้าย