ศรีสะเกษ(ชมคลิป)โรงเรียนดังลั่นพร้อมเปิดเรียน ออนไซต์ สัปดาห์หน้า ห่วงเด็กไทยเรียนออนไลน์สร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา


เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย (ศกว.) อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายยิ่งยง นันทวณิชชากร ผอ.โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย นำคณะครู บุคลากรทางการศึกษา ร่วมกันจัดกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ ทำความสะอาดห้องเรียน ห้องพักครู โดยการฉีดพ่นฆ่าเชื้อบริเวณราวบันได ลูกบิดประตู หลังมีการสั่งปิดโรงเรียน ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย. ถึงวันที่ 2 ก.ค. นี้ เนื่องจากพบว่ามีนักเรียนชั้น ม.6 สัมผัสเสี่ยงสูงกับญาติซึ่งเป็นผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคณะครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง ก่อนที่จะมีการเปิดการเรียนการสอนตามปกติในเร็วๆนี้
นายยิ่งยง กล่าวว่า ผลการตรวจของนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสกับญาติผู้ป่วยดังกล่าว พบว่ามีผลเป็นลบ และปัจจุบันไม่พบว่ามีนักเรียนหรือครู รวมถึงบุคลากรทางการศึกษาคนใดติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด ส่วนการพิจารณาเปิดโรงเรียนตามปกตินั้น จะได้เร่งประชุมคณะกรรมการบริหารโรงเรียน เพื่อพิจารณาว่าโรงเรียนควรจะมีการเปิด ออนไซต์ (On site) เมื่อใด ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดการเรียนการสอนตามปกติได้ในสัปดาห์หน้า เนื่องจากก่อนหน้านี้มีการสลับการมาเรียนของนักเรียนชั้น ม.ต้น และ ม.ปลาย โดยการเรียนสลับเว้นสัปดาห์
ซึ่งทางโรงเรียนได้มีการร่วมประชุมกับทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดไปแล้ว และได้ข้อสรุปว่าเราสามารถเปิดการเรียนการสอนได้ เพราะทางโรงเรียนไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ต้องมีมาตรการรองรับ ส่วนการฉีดวัคซีนขณะนี้ทางคณะครู และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 269 คน ปัจจุบันฉีดวัคซีนไปแล้ว จำนวน 77 คน และมีนักเรียนทั้งหมด จำนวน 3,734 คน
ทั้งนี้ตนอยากฝากว่าความตื่นตระหนกเป็นสิ่งที่ดี ปัญหาของการเรียนออนไลน์คือความพร้อมของนักเรียน โดยเฉพาะความพร้อมในเรื่องของกำลังทรัพย์ที่จะมีสื่อเทคโนโลยีในการที่จะซื้อสัญญาณ โดยเฉพาะที่โรงเรียนแห่งนี้ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดที่มีความพร้อม แต่เมื่อเช็คอย่างละเอียดแล้ว ก็พบว่า เด็กนักเรียนบางส่วน ยังมีปัญหาขาดแคลนสิ่งเหล่านี้อยู่ประมาณ 30 เปอร์เซ็น ซึ่งในจำนวนนี้ถ้านักเรียนมีความตั้งใจเรียนขาดสื่อเทคโนโลยีในการเรียนเหล่านี้ เขาก็มีความท้อว่าเขาขาด มันก็จะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำ ความเหลื่อมล้ำนี้ไม่อยากจะให้เกิดขึ้นในระบบการศึกษา ในส่วนของครูเอง เราต้องยอมรับว่า ครูที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างดี
แต่ก็ยังมีครูบางส่วนที่มีอายุเกิน 55 ปี ใช้เครื่องมีเทคโนโลยีลำบาก และอยากให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน นักเรียนที่เรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านก็เรียนลำบาก แต่เมื่อมาอยู่ที่โรงเรียนเขาก็สามารถใช้เวลาที่มีอยู่แล้วทำงานให้กับครูที่มอบหมายงานให้อย่างมีประสิทธิภาพ การเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้านนักเรียนไม่มีแรงจูงใจ และในเรื่องของกำลังสมองนักเรียนก็มีความชำนาญต่างกันในเรื่องการมีสมาธิในเรื่องการเรียนด้วย ดังนั้นการเรียน ออนไซต์ จึงมีความสำคัญกว่าการเรียนออนไลน์.

พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา ศรีสะเกษ // รายงาน