เกษตรจังหวัดนครพนม เตือนชาวนาหมั่นลงพื้นที่สำรวจแปลง ป้องกันการระบาดโรคไหม้ข้าว แนะวิธีรับมือแบบถูกวิธี  

 


ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกนหลายพื้นที่ และต้นข้าวอยู่ในระยะของต้นกล้า จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรหมั่นลงพื้นที่เพื่อสำรวจแปลงเพื่อป้องกันโรคไหม้ข้าว ซึ่งโรคไหม้ข้าวสามารถพบได้ในหลายช่วงอายุของการปลูกข้าวตั้งแต่ระยะกล้า ระยะแตกกอ ไปจนถึงระยะออกรวง การระบาดของโรคพบได้ในสภาพแปลงนาที่มีต้นข้าวหนาแน่น อับลม แปลงนาที่ใส่ปุ๋ยอัตราสูง สภาพอากาศร้อนในตอนกลางวัน และมีชื้นสูงในตอนกลางคืน กระแสลมแรงจะเป็นตัวช่วยในการแพร่กระจายโรคได้ดี
นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้แจ้งเตือนให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ให้ระวังโรคใบไหม้ของข้าว (Rice Blast) โดยเฉพาะข้าวนาหว่านที่เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ต่อไร่มากเกินไป ข้าวขึ้นหนาแน่นทำให้อับลม อากาศไม่ถ่ายเท และมีการใช้ปุ๋ยเคมีในอัตราที่สูง และพันธุ์ข้าวไวต่อช่วงแสง เช่น พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105, กข 15 ซึ่งปลูกเพาะมากในช่วงนาปี ทั้งนี้ สาเหตุของโรคใบไหม้เกิดจากเชื้อรา Pyricularia grisea Sacc. หากระบาดในระยะกล้านั้น ใบจะมีแผลจุดสีน้ำตาลคล้ายรูปตา มีสีเทาอยู่ตรงกลางแผล ความกว้างของแผลประมาณ 2-5 มิลลิเมตร และความยาวประมาณ 10-15 มิลลิเมตร แผลสามารถขยายลุกลามและกระจายทั่วบริเวณใบ ถ้าโรครุนแรงกล้าข้าวจะแห้งฟุบตาย อาการคล้ายถูกไฟไหม้ และในระยะแตกกอ ขนาดแผลจะใหญ่กว่าที่พบในระยะกล้า แผลลุกลามติดต่อกันได้ที่บริเวณข้อต่อ ใบจะมีลักษณะแผลช้ำสีน้ำตาลดำ และมักหลุดจากกาบใบเสมอ ให้เกษตรกรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ ถ้าพบการระบาดของ โรคใบไหม้ ให้ใช้เชื้อไตรโครเดอร์มา ฉีดพ่น ถ้ามีความจำเป็นให้ใช้สารเคมี ฉีดพ่นเฉพาะจุดที่พบการระบาดเพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อรา ถ้าหากจำเป็นให้ใช้สารเคมีควบคุม โดยสารเคมีที่แนะนำ ได้แก่ อิติเฟนฟอส 50 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร หรือบลาสติซิดิน-เอส 2 เปอร์เซ็นต์ อีซี อัตรา 20-25 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ส่วนการใช้สารเคมีให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง ควรใช้พ่นสลับกัน เพื่อป้องกันการดื้อยา และต้องลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน ซึ่งไม่ควรใช้เกิน 20-25 กิโลกรัมต่อไร่ และฤดูกาลต่อไปควรคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารเคมีป้องกันเชื้อราก่อนหว่าน และต้องหว่านข้าวตามคำแนะนำของทางราชการในอัตราประมาณ 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนในฤดูถัดไป ให้ใช้พันธุ์ต้านทานต่อโรคไหม้ เช่น พันธุ์กข5 กข11 กข27 กข๓๓ (หอมอุบล80) กข 37 กข 41 กข 43 กข 47 ชัยนาท1 สันป่าตอง1 สุพรรณบุรี1 สุพรรณบุรี2 สุพรรณบุรี3 สุพรรณบุรี60 สุพรรณบุรี90 คลองหลวง1 ปทุมธานี1 หรือ พันธุ์พิษณุโลก60 – 2 ใช้เชื้อไตรโครเดอร์มาที่เจริญบนเมล็ดธัญพืชขยำเอาสปอร์ออกคลุกเมล็ดพันธุ์ข้าวนำไปแช่บ่มเตรียมการปลูก อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร ต่อเมล็ดข้าว 500 กิโลกรัม หรือคลุกเมล็ดพันธุ์ด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น ไตรไซคลาโซล คาซูกาไมซิน คาร์เบนดาซิม โพรคลอราซ อัตราตามคำแนะนำในฉลาก หว่านเมล็ดพันธุ์ในอัตราที่เหมาะสม 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ ควรแบ่งแปลงให้มีการถ่ายเทอากาศได้ดีลดปริมาณการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนลง วิธีนี้อาจมีผลกระทบต่อผลผลิตบ้างแต่จะช่วยไม่ให้ข้าวอ่อนแอต่อโรค ซึ่งเกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการและคำแนะนำในการป้องกันและกำจัดอย่างถูกต้อง ต่อไป

ภาพ /ข่าว : กลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ
สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม