สำนักงานชลประทานที่ 6 ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำปาว เขื่อนชนบท เขื่อนมหาสารคาม เขื่อนวังยาง และเขื่อนร้อยเอ็ด เพื่อช่วยเจือจางค่าคลอไรด์ของน้ำชีหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ด หลังพบค่าความเค็มของน้ำประปาเมืองร้อยเอ็ดเกินมาตรฐาน
นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้รับรายงานว่าประชาชนเมืองร้อยเอ็ดได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากน้ำประปามีรสเค็มเป็นผลมาจากคลอไรด์ในน้ำสูง ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ดได้ประสานขอให้ปรับเพิ่มการระบายน้ำลงแม่น้ำชีเพื่อเจือจางค่าคอลไรด์ในแม่น้ำชีบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นจุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ด
สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้ประสานเขื่อนอุบลรัตน์จังหวัดขอนแก่น เพื่อปรับเพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 1.1 ล้าน ลบ.ม.เป็นวันละ 3 ล้าน ลบ.ม. เพื่อช่วยเติมน้ำลงลำน้ำพองและไหลไปลงแม่น้ำชีที่หน้าเขื่อนมหาสารคาม ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนลำปาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นวันละ 0.10 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนในแม่น้ำชีตั้งแต่เขื่อนชนบทจังหวัดขอนแก่น เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 0.24 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนมหาสารคาม เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 3.10 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนวังยาง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพิ่มการระบายน้ำเป็นวันละ 3.86 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนร้อยเอ็ดระบายน้ำวันละ 4.21 ล้าน ลบ.ม. และรักษาระดับน้ำเก็บกักเขื่อนร้อยเอ็ดไว้ที่ +129.500 เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับระบบสูบจ่ายน้ำดิบ จากการตรวจวัดค่าความเค็มบริเวณหน้าเขื่อนร้อยเอ็ด จุดสูบน้ำดิบของการประปาส่วนภูมิภาคาขาร้อยเอ็ด เมื่อวานนี้ (15 พ.ค. 64 ) พบค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์ปกติแล้ว แต่น้ำประปาในส่วนบ้านเรือนของประชาชนจะยังมีรสกร่อยเนื่องจากยังมีน้ำที่มีค่าความเค็มค้างในระบบเส้นท่อของการประปาต้องใช้เวลาในการผันน้ำออกจากเส้นท่อคาดว่าน้ำประปาจะกลับเข้าสู่สถานปกติภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งการประปาส่วนภูมิภาคสาขาร้อยเอ็ดได้แจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคได้โดยไม่เกิดอันตรายใดๆ
ทั้งนี้สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ประสานงานร่วมกับการประปาส่วนภูมิสาขาร้อยเอ็ด เพื่อให้การควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำชีบริเวณจุดสูบน้ำดิบของการประปาฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมสั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำชีอย่างใกล้ชิด
ข่าว-ภาพ กัมพล ดวงชิน