ขอนแก่น-ชป.6 ปูพรมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากพื้นที่เศรษฐกิจเมืองขอนแก่น

ชป.6 ปูพรมเตรียมความพร้อมรับมือน้ำหลากพื้นที่เศรษฐกิจเมืองขอนแก่น หลังอุตุฯคาดการณ์ปริมาณฝนปีนี้ใกล้เคียงปี 2551 ย้ำเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอย่างใกล้ชิด

นายไชยวิชญ์ กัณหะยุวะ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทยในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 5 -10 % และคาดว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยจำนวน 2-3 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน กรมชลประทานจึงสั่งให้โครงการชลประทานเตรียมพร้อมรับมือตามมาตราการและแนวทางการบริหารจัดการน้ำและรับมือน้ำหลากในช่วงฤดูฝนปี 2564 โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกิดอุทกภัย
จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าปริมาณฝนในปี 2564 จะมีปริมาณฝนตกใกล้เคียงกับปี 2551 ซึ่งมีฝนตกในปริมาณมากส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่นในปริมาณมาก เมื่อวานนี้ (13 พ.ค.64) สำนักงานชลประทานที่ 6 จึงได้มีการประชุมร่วมกับเขื่อนอุบลรัตน์ (กองจัดการทรัพยากรน้ำ กฟผ.) พิจารณาวางแผน การบริหารจัดการน้ำ ให้เป็นไปตามเกณฑ์บริหารจัดการอ่างเก็บน้ำแบบพลวัต (Dynamic Rule curve) ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบแผนการระบายน้ำที่ได้วางแผนไว้ โดยจะนำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารทรัพยากรน้ำจังหวัดขอนแก่น ให้ความเห็นชอบต่อไป เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดสถานการณ์น้ำหลากลดผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชน
นายไชยวิชญ์ฯ กล่าวอีกว่า การนำทีมลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานและพนังกั้นลำน้ำชี พนังกั้นลำน้ำพอง ซึ่งเป็นด่านสำคัญด่านแรกในการป้องกันน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่เศรษฐกิจเมืองขอนแก่นและพื้นที่ชลประทานในครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรการของท่านอธิบดีกรมชลประทาน ที่ได้เน้นย้ำให้ตรวจสอบสภาพความมั่นคงแข็งแรงของอาคารชลประทาน พนังกั้นน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพนังกั้นลำน้ำชีและพนังกั้นลำน้ำพอง ยังอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ไม่มีจุดไหนที่น่าเป็นห่วง เพราะได้ทำการปรับปรุงเสริมพนังให้แข็งแรงและสูงขึ้นเพื่อรองรับปริมาณน้ำที่จะระบายจากเขื่อนอุบลรัตน์
ทั้งนี้ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าการบริหารจัดการน้ำปีนี้ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เตรียมความพร้อมไว้อย่างดี เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด รวมทั้งเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือและกำลังคน ที่พร้อมจะเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีหากเกิดอุทกภัย

ข่าว-ภาพ กัมพล ดวงชิน