หนองบัวลำภู(ชมคลิป)ชาวอำเภอนากลาง ร่วมสืบสานประเพณี”สรงกู่ บูชาไฟ”องค์พระธาตุเมืองพิณ อายุร่วม 1,000 ปี

ชาวอำเภอนากลาง ร่วมสืบสานประเพณี”สรงกู่ บูชาไฟ”องค์พระธาตุเมืองพิณ อายุร่วม 1,000 ปี และนิทรรศการแสดงวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ การท่องเที่ยวของจังหวัดหนองบัวลำภู

วันนี้(13 เมย.64) ณ วัดพระธาตุเมืองพิณ บ้านโนนธาตุ ตำบลฝั่งแดง อำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมกับอำเภอนากลาง จัดงานสักการะองค์พระธาตุเมืองพิณ และนิทรรศการแสดงวิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ การท่องเที่ยวของจังหวัดหนองบัวลำภู ประจำปี 2564 โดยมี นางศิวพร ฉั่วสวัสดิ์ ผวจ.หนองบัวลำภู เป็นประธานเปิดงาน

ในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเป็นการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และเป็นการส่งเสริม อนุรักษ์ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างอาชีพ รายได้ในพื้นที่อำเภอนากลาง โดยจัดให้มีพิธีบวงสรวงองค์พระธาตุเมืองพิณ พิธีเชิญผ้าห่มแห่รอบองค์พระธาตุเมืองพิณ การสาธิตประกอบอาหารพื้นถิ่นชาวอิสาน และวิถีวัฒนธรรมชาวอีสาน การแสดงฟ้อนลำพะเนียง เคียงใจ ไทนากลาง

การจัดนิทรรศการแสดงวิถีชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของชาวอำเภอนากลาง ตลอดจนวิธี วิถีชีวิตคนหนองบัวลำภู ให้เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยมี นายวัชรินทร์ สุตลาวดี ปลัดจังหวัดหนองบัวลำภู วัฒนธรรมจังหวัดหนองบัวลำภู สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดหนองบัวลำภู เขต 3 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู นายอำเภอนากลาง ผู้นำทางสภาวัฒนธรรมตำบลฝั่งแดง และชาวบ้านที่ศรัทธาและยึดมั่นในองค์พระธาตุเมืองพิณ ร่วม 500 คนร่วมพิธี

ว่าที่ร้อยตรี รักชัย เลิศสุบิน นายอำเภอนากลาง กล่าวว่า พระธาตุเมืองพิณ เดิมเป็นพระธาตุทรงบัวแปดเหลี่ยม ศิลปะล้านช้าง อายุร่วม 1,000 ปีเดิมอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ต่อมาพระสงฆ์และชาวบ้านจึงได้ร่วมกันบูรณะเพื่อเสริมความมั่นคงป้องกันการพังทลาย จึงทำให้พระธาตุมีรูปทรงแปลกตา ทรงขวดหรือทรงลูกปืนแตกต่างจากพระธาตุอื่นๆ นอกจากจะมีพระธาตุเมืองพิณแล้ว ยังมีซากวิหารก่ออิฐสอดินอยู่ด้านตะวันอกของพระธาตุ และศิลาจารึกทำด้วยหินทราย กล่าวถึงการสร้างวิหารหลังนี้อยู่ด้านหน้าของซากวิหารด้วย

ใกล้องค์พระธาตุ ยังมีศาลปู่พระธาตุที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของปู่พระธาตุหรือเทวดาอารักษ์ผู้รักษาองค์พระธาตุ เวลาชาวบ้านมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจก็จะมาทำพิธีขอพรจากปู่พระธาตุที่ศาลนี้ ตลอดจนการสรงกู่ บูชาไฟ เริ่มจากการสร้างความเข้าใจกับคนในชุมชนถึง ความสำคัญของพิธีกรรมซึ่งต่างไปจากประเพณีสงกรานต์ การจัดงานพิธีสรงกู่ จึงต้องยึดตามหลักโบราณกาลและให้คนในชุมชนซึ่งสะท้อนให้เห็นการผสมผสานของความเชื่อเรื่องผีกับพระที่ยังคงอยู่ควบคู่กันในสังคมชนบทอีสานได้เป็นอย่างดี
สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์/ขตว.จังหวัดหนองบัวลำภู