วันที่ 4 มีนาคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ลงพื้นที่รับฟังปัญหา อุปสรรค รวมถึงมอบนโยบายแก่คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด จังหวัดนครพนม จากนั้นได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง ที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการก่อสร้างขึ้นเพื่อป้องกันการพังทลายของตลิ่งริมแม่น้ำโขง รวมถึงพัฒนาต่อยอดการใช้ประโยชน์จากการก่อสร้างเขื่อนฯ ด้วยการทำทางเดินเท้า ทางจักรยาน ถนนคอนกรีต ไฟฟ้าส่องสว่างเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ของพื้นที่สาธารณะอย่างคุ้มค่า ทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนริมแม่น้ำโขงของจังหวัดนครพนมและกลุ่มจังหวัดใกล้เคียง ที่มีจุดเริ่มต้นจากหน้าวัดพระอินทร์แปลง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองไปสิ้นสุดที่บ้านหนองจันทร์ ตำบลท่าค้อ อำเภอเมือง ความยาวรวม 4.749 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างเสร็จไปแล้ว 3.015 กิโลเมตร โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
โดยในโอกาสนี้ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.3) ได้พูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ว่า ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมสำหรับแนวความคิดในการสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำโขง ที่นอกจากจะช่วยป้องกันการพังทลายของดินแล้ว ยังมีการต่อยอดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปในตัว ซึ่งต่อจากนี้ทุกคนต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดีมากยิ่งขึ้นไปอีก และเชื่อว่าที่ทำมาทั้งหมดนี้เป็นผลดีที่ได้แบบยั่งยืน ถูกต้อง ถ้าไม่มีภัย covid – 19 เกิดขึ้นสถานที่แห่งนี้คงจะมีประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก นั้นหมายถึงจะมีการจับจ่ายใช้สอยในด้านต่างๆตามมา และจะทำให้เกิดรายได้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเองก็จะยังคงพยายามปรับปรุงในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหลายโครงการ เพื่อให้กลายเป็นจุด Landmark เป็นที่สาธารณะได้ เป็นพื้นที่สีเขียว เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นแหล่งออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ตนเองมองว่าจังหวัดนครพนม มีศักยภาพหลากหลายด้านที่น่าสนใจ ที่ทุกคนจะต้องมาพูดคุยกัน เพื่อประชุมหารือและบูรณาการร่วมกันวางแผนพัฒนาภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีหลาย ๆ หน่วยงาน มาร่วมกันลงความคิดเห็น กำหนดทิศทางที่ถูกต้องในการพัฒนาจังหวัดส่วนตนเองเป็นเพียงคนที่มาให้คำปรึกษาในเรื่องของการทำงาน การบริหารจัดการ ซึ่งจุดมุ่งหมายจริงๆจะอยู่ที่ประชาชนในพื้นที่จะต้องมีกรอบแนวความคิดในการพัฒนาที่ถูกต้อง ยิ่งถ้าเราเอาการท่องเที่ยวนำการพัฒนาแบบยั่งยืนจะเกิดขึ้นและสิ่งอื่นๆจะตามมา เพราะเมื่อไหร่ที่เราทำให้การท่องเที่ยวไปต่อได้ ก็จะเกิดรายได้ ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียน สามารถเก็บภาษีได้ ทำให้งบประมาณไปพัฒนาส่วนอื่น ๆ ซึ่งการท่องเที่ยวก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งประเภททำสินค้า OTOP ให้เป็นนวัตวิถี คือทำให้คนมาดูในเรื่องของการทอผ้า การประดิษฐ์สินค้า การทำผลิตภัณฑ์ หรือแม้กระทั่งในเรื่องของโคก หนอง นา โมเดล ก็สามารถทำเป็นการท่องเที่ยวได้ ด้วยการเปิดให้คนเข้ามาในพื้นที่ มาดูวิธีการปลูก วิธีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ การเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา การทำให้มีผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างมูลค่า สร้างรายได้ และถ้าทุกคนนำการท่องเที่ยวมาใช้หัวใจหลักในการพัฒนา จะทำให้จังหวัดมีรายได้และสามารถพัฒนาต่อยอดไปในส่วนอื่นเพิ่มเติมได้อีกมากมาย
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิรเธัญญากุล นครพนม