เลย(ชมคลิป)กรมอุทยานฯเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านรอบอุทยานกับพรบ.ใหม่


เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 4 มี.ค.2564 ที่โรงเรียนอนุบาลชุมชนภูกระดึง จ.เลย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมเสวนาสัญจรภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้ในภาคประชาชนต่อ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) โดยมีนายคมกริช เศรษบุบผา ผู้อำนวยการส่วนจัดการท่องเที่ยวและนันทนาการ สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่8 นายสำเร็จ ภูแสนศรี หน.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง, นายวาณิชย์ ศรีบุรินทร์ ปลัดอำเภอภูกระดึง และคณะผู้บริหารส่วนภูมิภาค คณะผู้บริหารส่วนการปกครอง และประชาชนในพื้นที่ร่วมงาน พร้อมตอบข้อซักถามทุกประเด็นในข้อสงสัยของประชาชนในพื้นที่
นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่8 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า เนื่องจากพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติที่มีอยู่เดิมไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีการปรับปรุงให้เหมาะสม โดย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 (ฉบับใหม่) ซึ่งประกาศใช้ไปเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2562 แล้วนั้น ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้ปฏิบัติการตามภารกิจมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันประชาชนยังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชน ในการดูแลพื้นที่ป่าให้เป็นประโยชน์ของประเทศ และเพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศตามพันธกรณี ที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิก โดยเจตนารมณ์สำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ คือ กฎหมายที่ทำให้เราอยู่รวมกันได้ ภายใต้แนวคิด “ป่าอยู่ได้…คนอยู่ได้” ดังนั้น การมุ่งสร้างความเข้าใจในเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเกี่ยวกับกฎหมาย ภายใต้แนวคิด คนสมดุล ป่าสมบูรณ์ เป็นเวทีเสวนาในครั้งที่3 เพื่อสร้างการรับรู้ต่อภาคประชาชนโดยเฉพาะชุมชนโดยรอบพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้มีความยั่งยืนต่อไป ซึ่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (ฉบับใหม่) ได้รับการออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาที่ได้สะท้อนออกมาจากทุกฝ่าย เช่น เรื่องของการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการอยู่อาศัย การใช้เป็นที่ดินทำกิน สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจาก พ.ร.บ. ฉบับเดิมโดยเฉพาะมาตรา 64 ในพ.ร.บ.ฉบับใหม่มีบทบัญญัติให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ เพื่อนำไปสู่การจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้สิทธิ์ในที่ดินนั้น ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่ไม่มีที่ดินทำกินให้ได้อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้อุทยานแห่งชาติทุกแห่งได้ดำเนินการสำรวจการถือครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้วโดยสิ้นสุดเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 ภายใต้เงื่อนไขกรอบเวลา 240 วัน นับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว จึงเป็นการแก้ไขปัญหาการบุกรุกครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็นการช่วยเหลือประชาชน โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข การอยู่อาศัยหรือทำกินตลอดจนการสิ้นสุดการอนุญาต ภายใต้มาตรการในการกำกับดูแล การติดตาม และการประเมินผลว่าต้องไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายรวมศิลป์ กล่าวด้วยว่า ใน พ.ร.บ.กฎหมายใหม่สามารถให้ชาวบ้านหากินในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บหาหรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 หมายถึง ทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเกิดใหม่ทดแทนได้ตามฤดูกาลที่อนุญาตให้เก็บหา หรือใช้ประโยชน์ตามประเภท ชนิด และจำนวนที่กำหนด เพื่อการดำรงชีพอย่างเป็นปกติในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยจะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตการเก็บหา หรือการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และการสิ้นสุดการอนุญาต ตลอดจนมาตรการในการกำกับดูแล การตรวจสอบ การติดตาม การควบคุมผลกระทบ และการฟื้นฟูพื้นที่หรือทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึง การประเมินผลการดำเนินโครงการและแนวทางในการลดการพึ่งพิงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติดังกล่าวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติบางแห่ง มีการเก็บหาทรัพยากรในเขตอุทยานแห่งชาติเพื่อการดำรงชีพตามวิถีชีวิตของชาวบ้าน สำหรับกฎหมายใหม่มีการระบุให้มีการสำรวจและทำรายละเอียด ทั้งชนิดของทรัพยากร บางชนิดที่เกิดใหม่ทดแทนได้ ช่วงเวลาในการเก็บและอยู่ในกรอบที่กำหนด เช่น เป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาต เก็บตามชนิดตามประเภทที่ให้เก็บ เก็บในบริเวณที่ให้เก็บ เก็บในระยะเวลาที่ให้เก็บ เก็บเพื่อดำรงชีพอย่างปกติ ข้อกำหนดเหล่านี้จึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นข้อผ่อนปรน ที่ทำให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุล ซึ่ง นอกจากสาระสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแล้ว พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 และพ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้มีการเพิ่มบทกำหนดโทษ อัตราโทษที่มากขึ้นหลายเท่าตัวเมื่อเทียบจาก พ.ร.บ. ฉบับเดิม อาทิ ล่าสัตว์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ใดยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 4-20 ปี หรือปรับตั้งแต่ 400,000 -2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ ต่างๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ไม่ผิดต่อข้อกฎหมายใหม่ อันจะนำไปสู่การอยู่ร่วมของคนกับป่าได้อย่างสมดุล ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ (ฉบับใหม่) ที่ว่า “ป่าอยู่ได้… คนอยู่ได้”


ดำรงค์ รักษ์จรรยาวงศ์/ จ.เลย