(ชมคลิป)จิตอาสานครพนมพร้อมใจกันพัฒนาโรงเรียนเนื่องในวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า


วันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 ที่โรงเรียนอุเทนพัฒนา หมู่ที่ 6 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ ลูกเสือ เนตรนารี และประชาชนจิตอาสาจังหวัดนครพนม ร่วมกันพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ ตัดตกแต่งต้นไม้ กำจัดวัชพืช เก็บกวาดขยะ บริเวณโดยรอบโรงเรียน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 หรือวันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่ตลอดรัชสมัย ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอเนกประการ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งจบจนกาลปัจจุบัน ด้วยพระอัจฉริยภาพอันล้ำเลิศ ลึกซึ้ง และพระปรีชาญาณอันกว้างไกล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการศึกษา ด้วยทรงตระหนักว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศทุกด้าน ทรงริเริ่มวางรากฐานการศึกษาให้แก่บุรุษและสตรี ทรงโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับ เพื่อขยายการศึกษาในระดับประถมศึกษาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้เด็กไทยทุกคนได้รับโอกาสเข้าเรียนในโรงเรียน
นอกจากนี้พระองค์ทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งกิจการเสือป่าและลูกเสือ เพื่อฝึกให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถในการป้องกันตัวเอง ดูแลตัวเองในหมู่บ้านหรือชุมชนตนเองได้ โดยทรงจัดตั้งกองเสือป่าขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการ พ่อค้า คหบดี ให้ได้รับการฝึกหัดอย่างทหาร เพื่อให้เป็นราษฎรที่เข้มแข็ง มีคุณภาพ และส่งเสริมความสามัคคี โดยเหล่าเสือป่าจะมีหน้าที่ในการรักษาความสงบทั่วไปในเมือง ขณะเดียวกันก็ได้ทรงก่อตั้งกองลูกเสือขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง เพื่อฝึกให้เยาวชนมีความเข้มแข็ง อดทน เสียสละ สามัคคี ดังที่ได้พระราชทานคติพจน์ให้แก่คณะลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” และดังพระราชนิพนธ์บทละครพูดเรื่อง หัวใจนักรบ และ ความดีมีไชย ที่แสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับบทบาทและหน้าที่ของลูกเสือ ด้วยเหตุนี้ทางราชการจึงได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระองค์ท่านเป็นวันวชิราวุธ หรือเดิมเรียกว่า วันวชิราวุธานุสรณ์ เพื่อเทิดพระเกียรติและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แต่เนื่องด้วยมีการค้นพบหลักฐานว่าช่วงเวลาที่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสวรรคตนั้นตรงกับเวลา 1 นาฬิกา 45 นาที ของวันที่ 26 พฤศจิกายน แต่ทางราชการยังคงให้ถือเอาวันที่ 25 พฤศจิกายนไว้ตามเดิม