(ชมคลิป)จังหวัดนครพนม เตรียมรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วม โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรกรทฤษฎีใหม่


วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมร่วมกับคณะหัวหน้าส่วนราชการ คณะทำงาน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงาน รองรับการจัดสรรงบประมาณโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรกรทฤษฎีใหม่ ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการบูรณาการสืบสานพระราชปณิธานและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิระเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ซึ่งทรงพระราชทาน โครงการโคกหนองนาแห่งน้ำใจและความหวัง กรมราชทัณฑ์
โดยในการประชุมในครั้งนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมที่จะเปิดรับสมัครเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือเกษตรกรทั่วไป หรือทายาท หรือแรงงานคืนถิ่น หรืออาสาสมัครเกษตรกร ที่มีอายุระหว่าง 18 – 60 ปี ที่มีสัญชาติไทย มีเอกสารสิทธิ์ในพื้นที่ดินไม่น้อยกว่า 3 ไร่ที่เป็นผืนเดียวกัน และต้องยินยอมให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อดำเนินโครงการเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี เข้าร่วมโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยผู้สมัครและพื้นที่ที่ใช้สมัครต้องไม่อยู่ในโครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ (5 ประสาน) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะเปิดรับสมัครทั้งสิ้น 944 ราย และจ้างงาน 472 ราย โดยระยะที่ 1 รับสมัครระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 9 กันยายน 2563 และถ้ามีจำนวนผู้สมัครไม่ครบจำนวนเนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่กำหนด ก็จะมีการเปิดรับเพิ่มเติมในระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 14 – 22 กันยายน 2563 และระยะที่ 3 วันที่ 8 – 22 ตุลาคม 2563 ซึ่งก็จะมีการปรับคุณสมบัติใหม่ ดังนั้นเกษตรกรที่สนใจสามารถสมัครผ่านระบบออนไลน์ หรือยื่นใบสมัครกับเจ้าหน้าที่เกษตรกรตำบล หรือที่สำนักงานเกษตรอำเภอได้ตามวันเวลาที่กำหนด ขณะที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ โคก หนอง นา โมเดล จะมีการพัฒนาครัวเรือนกลุ่มเป้าหมาย จำนวน 81 ครัวเรือน ทั้งการฝึกอบรมเพิ่มทักษะการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง รูปแบบ โคก หนอง นา โมเดล การพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ การสร้างงานสร้างรายได้รายเดือน ให้แก่ เกษตรกร บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน การกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชนผ่านกิจกรรมการพัฒนาและสนับสนุนพื้นที่ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับครัวเรือน การต่อยอดทางธุรกิจร่วมกับภาคเอกชนในพื้นที่ การสร้างมาตรฐานผลผลิต การแปรรูปและการตลาดตามมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย และการสร้างระบบโปรแกรมและระบบฐานข้อมูลพัฒนาระบบ Digital รองรับ Local Economy โดยจะมีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ สำหรับการฝึกปฏิบัติร่วมกันในแปลงของครัวเรือนด้วย