ที่ห้องรับรองพิเศษ ศาลาช่อกาลพฤกษ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะ วิศวกรรมศาสตร์และ อ. สุธา ลอยเดือนฉาย ร่วมกันแถลงการวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืน จากเดิมที่สามารถป้องกัน กระสุนปืนสั้นได้ทุกชนิด พัฒนาต่อยอดสู่แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร กระสุนปืน M16 ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้ ทางทหารได้สำเร็จ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานสำหรับกลุ่มอาวุธสงคราม โดยมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 2 กิโลกรัม และรุ่นน้ำหนัก 1.6 กิโลกรัม ซึ่งเบากว่าแผ่นเหล็กหนาขนาด 9 มิลลิเมตร ที่ใช้ในเสื้อเกราะกันกระสุน ทั่วไปในปัจจุบัน 2-3 เท่า
นอกจากน้ำหนักเบาแล้ว คุณสมบัติเด่นของแผ่นรังไหมรับแรง คือ การหยุดจับกระสุนไม่ให้เกิดการแฉลบ เนื่องจากพบว่าการใช้แผ่นโลหะทำให้กระสุนเกิดการแฉลบ ซึ่งอาจไปโดนอวัยวะอื่น หรือผู้อื่นที่อยู่ข้างเคียงได้ และหากเปรียบเทียบคุณสมบัติที่ดีกว่าเกราะอ่อนกันกระสุนที่ทำจากเคฟลาร์ พบว่าแผ่นรังไหมรับแรงมีราคาถูกกว่า และยังสามารถป้องกันอาวุธมีคม อาทิ มีด ซึ่งไม่สามารถแทงทะลุแผ่นรังไหมได้ แต่สามารถแทงทะลุเกราะอ่อนได้
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ เผยว่า กระบวนการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. จะมี กระบวนผลิตแตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น โดยยังใช้รังไหมที่มีความยืดหยุ่น น้ำหนักเบา ต้านทาน แรงกระแทกได้ดีแต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยาชนิดพิเศษ เพื่อให้ วัสดุต่าง ๆ ยึดเกาะกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้แผ่นรังไหมที่สามารถรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. หรือ กระสุนปืน M16 ได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิม ที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น แม้ว่าจะนำมาซ้อนกัน ถึง 4 แผ่น แต่กระสุนปืนขนาด 5.56 มม. ก็สามารถทะลุได้
ต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงที่เพิ่งคิดค้นสำเร็จนี้โดยได้ จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว ตอนนี้แผ่นรังไหมรับแรงมี 2 แบบ คือ แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 0.9 0.75 และ 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 2 และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ อาทิ ทหาร ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายเดน หรือเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงชายแดนภาคใต้ สำหรับเจ้าหน้าที่ที่สนใจ สามารถติดต่อ ได้ที่ 089-8406586 ผศ.ดร. พนมกร ขวาของ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ อาจารย์สุธา ลอยเดือนฉาย
ทั้งนี้โดยในการทดสอบแรงรับกระสุนของแผ่นรังไหมในสนามจริง พบว่ารุ่น 5.56 และรุ่น 2.1 กิโลกรัม สามารถรับแรงกระสุนได้จำนวน 5 นัด ซึ่งหัวกระสุนไม่ทะลุ จะฝังอยู่ในเนื้อเกราะรังไหม ส่วนรุ่น 1.6 กิโลกรัม รับกระสุนได้ 2 นัด ซึ่งเมื่อเกราะกันกระสุนรังไหมเมื่อถูกยิงแล้ว จะไม่สามารถนำกลับมาใช้อีก ซึ่งราคายังไม่ได้กำหนด แต่รับรองว่าถูกกว่าราคาทั่วไป 2-3 เท่าตัว