สถานการณ์น้ำในภาพรวมดีขึ้น ทั้งด้านทิศตะวันตกและทิศใต้มีปริมาณน้ำสูงขึ้น ส่วนด้านทิศเหนือยังคงต้องติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ อย่างต่อเนื่อง
วันที่ 28 สิงหาคม 2563 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำและแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ภายหลังการประชุมติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำชีในสภาวะภัยแล้ง และติดตามการเตรียมความพร้อมของส่วนราชการในการช่วยเหลือประชาชนในกรณีที่ประสบอุทกภัย ของนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ว่า
สถานการณ์น้ำทางทิศตะวันตก ของจังหวัดขอนแก่น ขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นเป็นลำดับ หลังจากช่วงเดือนที่ผ่านมามีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีน้ำไหลเข้าสู่ลำน้ำพรมและลำน้ำเชิญ รวมถึงเขื่อนจุฬาภรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีหน้าที่สนับสนุนน้ำในด้านทิศตะวันตกของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเมื่อเทียบในปีที่ผ่านมาปัจจุบัน เขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำใช้การได้ในปีที่แล้ว เพียง 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ ณ ปัจจุบันนี้ มีน้ำใช้การได้อยู่ที่ 19.6 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำอยู่ที่ระดับความจุ ระดับ 56 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีน้ำต้นทุนอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการลุ่มน้ำพรม-เชิญ ได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม น้ำมวลนี้หากมีฝนตกลงมาเพิ่มและหากมีการปล่อยน้ำมาเป็นระยะ ซึ่งน้ำเหล่านี้จะไหลเข้าสู่เขื่อนอุบลรัตน์ เพื่อเติมน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ส่วนด้านทิศใต้ จากการติดตามสถานการณ์น้ำที่แก่งละว้า ในปีที่ผ่านมา ในช่วงวันที่ 30-31 สิงหาคม 2562 ซึ่งมีพายุโพดุล แก่งละว้า จะมีน้ำที่อยู่เพียง 12 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ ณ ขณะนี้ มีน้ำที่แก่งละว้าอยู่ที่ระดับ 19 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งโดยภาพรวมทางทิศใต้ มีปริมาณน้ำที่สูงขึ้น ส่วนด้านทิศเหนือ ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจุดหลักสำคัญในการเฝ้าติดตาม คือที่เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งขณะนี้มีน้ำอยู่ที่ระดับความจุ อยู่ที่ 434 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 18 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง แต่ต่ำกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ในวันเดียวกัน ซึ่งปีที่แล้วในวันเดียวกันนี้ จะมีน้ำอยู่ในเขื่อนอุบลรัตน์ที่534 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงเป็นข้อกังวลใจในการที่น้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ในการสนับสนุนภาคการเกษตรทางลำน้ำพองทั้งหมด ต่อเนื่องจนไปถึงลำน้ำชี ไปจนถึงปลายน้ำ ที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี
ทั้งนี้ จากการพยากรณ์อากาศ ของศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งคาดการณ์ว่าในเดือนกันยายน คาดว่าจะมีร่องมรสุมหรือพายุในพื้นที่ ซึ่งโดยปกติจะมีน้ำไหลเข้าเขื่อนอุบลรัตน์ ในช่วงเดือนกันยายน ค่าเฉลี่ยโดยทั่วไปอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร และในเดือนตุลาคม 600 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงต้องมีการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์และแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำเพื่อการเกษตร และโดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค คาดว่าน่าจะเพียงพอในระดับที่ดีขึ้น ส่วนน้ำเพื่อการเกษตรนั้น จะต้องมีการเฝ้าระวังติดตามไปจนถึงกลางเดือนกันยายนต่อไป โดยภาพรวมจังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 14 แห่ง ที่กระจายอยู่ใน 26 อำเภอจังหวัดขอนแก่น นั้น สภาพการจัดเก็บน้ำ ณ ขณะนี้หลังจากมีฝนตกลงมาในช่วงระยะเวลา เกือบ 2 เดือน ที่ผ่านมานั้น มีน้ำกว่า 38 เปอร์เซ็นต์ ของความจุ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่อ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 14 แห่ง สามารถเก็บน้ำได้เพียง 27% ซึ่งถือว่า โดยภาพรวมสถานการณ์น้ำในปีนี้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งทางจังหวัดขอนแก่นจะได้แจ้งให้ประชาชนได้รับทราบแนวทางการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่องต่อไป
ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์มีปริมาณน้ำกักเก็บ 434 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของความจุอ่าง มีน้ำไหลเข้าตลอดทั้งสัปดาห์กว่า 60 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนการระบายน้ำยังคงระบายวันละ 3 แสนลูกบาศก์เมตร
สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำ 439.33 ล้าน ลบ.ม./18.07% น้ำใช้การ -142.34 ล้าน ลบ.ม./-7.70% น้ำไหลเข้า 6.21 ล้าน ลบ.ม. ระบาย 0.30 ล้าน ลบ.ม.

Related posts
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.