สสว.อบรมสัมมนา หัวข้อ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกรณีศึกษาตัวอย่าง “Best Practice Forum”(ฟอรัมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด) ชูระบบเอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 21 ส.ค. ที่ โรงแรมวีวิช ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดอบรมสัมมนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกรณีศึกษาตัวอย่าง “Best Practice Forum”(ฟอรัมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด) ชูระบบเอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์ โดยจะมีศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) ของ สสว. ที่กระจายให้บริการอยู่ในทุกจังหวัด พร้อมจะสนับสนุนระบบงานนี้บนออฟไลน์ควบคู่กันไป เพื่อแก้ปัญหาและตอบสนองแนวทางการพัฒนา SME 4.0 แก่ผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการ สสว.โดยมีโค้ชเข้าร่วมอบรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จำนวนกว่า 20 คน
นายวีระพงศ์ มาลัย ผอ.สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า โครงการ Train the Coach (ฝึกโค้ช) ของ สสว. ซึ่งได้เข้าสู่ระยะปีที่ 3 โดยมีสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยร่วมดำเนินการนั้น มีเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบการรวบรวม คัดสรรโค้ชมืออาชีพจากทั่วประเทศ เสริมองค์ความรู้และทักษะ ให้มีขีดความสามารถที่จะแก้ปัญหาและตอบสนองแนวทางการพัฒนา SME 4.0 นอกจากนี้ ผู้ประกอบการจะสามารถเข้าถึงโค้ชแต่ละรายได้บนระบบออนไลน์ และเลือกคุณสมบัติของโค้ชที่มีความชำนาญตามที่ตนเองต้องการได้ ปัจจุบันมีโค้ชที่เข้าสู่โครงการนี้กว่า 3,502 ราย ประกอบด้วย โค้ชสายกลยุทธ์ธุรกิจ จำนวน 2,676 ราย และ โค้ชสายเทคโนโลยี จำนวน 826 ราย กระจายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ และมีสาขาความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ในการที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือวางกลยุทธ์ธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ
นายวีระพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม ว่า สำหรับบริการใหม่ที่จะแนะนำในปีนี้ เรียกว่า เอสเอ็มอีโค้ชชิ่งออนไลน์( SMEcoachingonline) โดยจะมีศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (OSS) ของ สสว. ที่กระจายให้บริการอยู่ในทุกจังหวัด พร้อมจะสนับสนุนระบบงานนี้บนออฟไลน์ควบคู่กันไป ซึ่งในปีนี้ สสว.จะเร่งตอบสนองความต้องการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ให้สามารถเข้าถึงโค้ชมืออาชีพต่างๆ ได้ โดยแบ่งเป็นระบบจะมีตัวกรอง ดังนี้ 1. ระดับคุณภาพที่วัดจากจำนวนดาวที่ได้รับจากผู้ประกอบการ 2. การคัดเลือกประเภทความเชี่ยวชาญของโค้ช 3. กระบวนการสื่อสารส่งผ่านชุดคำถาม-คำตอบโดยผู้ประกอบการสามารถส่งภาพถ่ายสินค้า หรือแจ้งสภาพปัญหาของเครื่องจักร หรือจะส่งภาพขั้นตอนการทำงานให้แก่โค้ชโดยตรงได้ เพื่อปรึกษาและหาแนวทางแก้ปัญหาในเบื้องต้นได้ก่อน และ 4. ระบบอาจจะนำส่งต่อปัญหานี้ไปยังหน่วยงานเฉพาะด้านที่สามารถให้คำตอบได้ ซึ่ง สสว. ก็มีความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรอื่นๆ ที่ร่วมกับทางสสว. อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งทาง สสว. คาดหวังว่าโค้ชแต่ละท่านจะได้เรียนรู้ทั้งหลักวิชาโดยตรง และความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติงาน หรือการใช้ทักษะพิเศษต่างๆ สำหรับการแก้ไขปัญหาให้กับผู้ประกอบการ SME ได้ และสสว. เชื่อว่า SME ต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลและการปรับโมเดลธุรกิจที่ทันกับยุค วิถีชีวิตปรกติใหม่ (New Normal) ที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างมาก และหาแนวทางฟื้นฟูและรักษาการเติบโตต่อไปในระยะยาว แนวทางการปรับตัวด้วยดิจิทัลดิสรัปชั่นจะเป็นอีกหนึ่งทางรอดและปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ SME ไทย เปลี่ยนโฉมแนวทางธุรกิจของตนเอง” นายวีระพงศ์ กล่าว.