ขอนแก่น: สำนักงาน ป.ป.ช.ขอนแก่น และชมรม STRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต พัฒนาศักยภาพสมาชิก เน้นเสริมพลัง สร้างเครือข่ายและขยายการทำงานระดับชุมชน
วันที่ 19 ธันวาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพสมาชิกชมรมฯ ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายผลความรู้และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายฯ สร้างความตระหนักรู้ถึงการป้องกันการทุจริตผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันแก่คณะกรรมการชมรมฯ สมาชิกชมรมชมรมฯ และภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ มีนางสาวอรุณี วินทะสมบัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มประสานการป้องกันการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. เขต 4 เป็นประธาน นางสาวบังอร ทรัพย์พิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต สำนักงานป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้กล่าวรายงานและประธานคณะผู้จัดกิจกรรมในครั้งนี้
นางสาวบังอร ทรัพย์พิพัฒน์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมนี้มีความคาดหวังที่จะสร้างและพัฒนาองค์ความรู้แก่สมาชิกชมรมฯ ให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ขยายเครือข่ายป้องกันการทุจริตลงสู่ระดับอำเภอและตำบล และให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ร่วมกันต่อต้านการทุจริตต่อไป โดยมีบรรยายหัวข้อในเรื่อง แนวทางการเฝ้าระวังป้องปรามการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ โครงการอาหารกลางวันโรงเรียน โครงการขุดลอกแหล่งน้ำ โครงการศึกษาดูงานหรือทัศนศึกษา เป็นต้น มีบรรยายหัวข้อในเรื่อง การเฝ้าระวังความเสี่ยงการทุจริตโครงการ/กิจกรรมในหน่วยงานรัฐ ได้แก่ โครงการจัดหาครุภัณฑ์บัญชีนวัตกรรมไทย เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโครงการเสาไฟฟ้าบัญชีนวัตกรรมไทย โครงการระบบประปาตามบัญชีนวัตกรรมไทย การเฝ้าระวังป้องปรามการทุจริตทรัพยากรสาธารณะอันเป็นสมบัติของแผ่นดิน เช่น ที่สาธารณประโยชน์ หรือการลักลอบขุดที่ดินเพื่อจำหน่ายในที่ สปก. เป็นต้น รวมทั้งเรื่อง การเฝ้าระวังการสรรหาหรือสอบคัดเลือกหรือสอบแข่งขันการเข้ารับราชการครูหรือพนักงานท้องถิ่น อีกด้วย มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 110 คน
ด้าน นายประสิทธิ์ ปาปะกัง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ชมรม STRONG จิตพอเพียงต้านทุจริตจังหวัดขอนแก่น ที่จัดตั้งขึ้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.ปลูกฝังจิตพอเพียงต้านทุจริต ด้วยรูปแบบ STRONG แก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 2.ปลูกวิธีคิด แยกแยะผลประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ส่วนรวม รวมทั้งความอายและไม่ทนต่อการทุจริตแก่ประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 3.ขยายผลการป้องกันทุจริตเชิงรุก ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด 4.ขยายผลการรับรู้การทุจริตต่อประชาชนและทุกภาคส่วนในจังหวัด และ 5.ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หรือชมรมอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์ในการต่อต้านการทุจริต รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ โดยไม่ดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง.
ไพฑูรย์ พรหมเทศ ทีมข่าวจังหวัดขอนแก่น รายงาน