จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับทุกภาคส่วนพร้อมจัดงาน“พราวพัสตราแพรวาผืนผ้าแห่งแผ่นดิน” ระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (หลังเก่า) และหอประชุม 80 พรรษามหาราชา โชว์เรื่องราวของการสืบสานภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น ต่อยอดพัฒนาให้มรดกทางวัฒนธรรมได้เกิดการสร้างสรรค์ โดยเฉพาะความงดงามและคุณค่าของผืนผ้าให้เกิดเป็นสินค้าแฟชั่นยุคใหม่ ทันสมัย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าจากผ้าไหมแพรวา และผ้าพื้นเมืองนำออกสู่สายตาชาวโลก
วันที่ 26 สิงหาคม 2567 นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการจังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้รับงบประมาณจากจังหวัด นำโดยนายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ในการจัดกิจกรรม เพื่อส่งเสริมการขายพัฒนาสินค้าโอทอป ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญเป็นที่ทราบกันดีว่า จ.กาฬสินธุ์ มีผ้าไหมแพรว่าที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ของชนเผ่าภูไท ซึ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพที่บ้านโพน อ.คำม่วง และส่งเสริมจากผ้าไหมแพรวาที่กำลังจะเลือนหายไปกลับมามีชีวิตจนมีชื่อเสียงที่เลื่องลือ และได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งผ้าไหม
นอกจากนี้ จ.กาฬสินธุ์ยังมีการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบการโอทอปทุกประเภท 2,786 กลุ่ม มีผลิตภัณฑ์โอทอป 4,960 ผลิตภัณฑ์ โดยมีผลิตภัณฑ์ประเภทผ้า 1,702 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ในปี 2566 ที่ผ่านมา ผลิตโอทอปสามารถสร้างรายได้ให้กับประชาชนมากถึง 5,800 ล้านบาท
นายอุทัย กล่าวต่อว่า จ.กาฬสินธุ์จึงได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับทุกภาคส่วนเตรียมจัดงาน “พราวพัสตราแพรวา ผืนผ้าแห่งแผ่นดิน” ขึ้นระหว่างวันที่ 27-31 สิงหาคม 2567 ที่บริเวณลานหน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) และหอประชุม 80 พรรษามหาราชา เพื่อนำเสนอเรื่องราวของการสืบสานภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น และต่อยอดพัฒนาให้มรดกทางวัฒนธรรมได้เกิดการสร้างสรรค์นำออกปรากฏสู่สายตาชาวโลก พร้อมนำเสนอความงดงามและคุณค่าของผืนผ้าให้เกิดเป็นสินค้าแฟชั่นยุคใหม่ ที่ทันสมัย และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าจากผ้าไหมแพรวา และความหลากหลายของผ้าพื้นเมือง
ทั้งนี้งาน“พราวพัสตราแพรวาผืนผ้าแห่งแผ่นดิน” นอกจากจะทำให้เกิดกระแสของวงการแฟชั่นผ้าไทย ยังเป็นการพัฒนาคนและพัฒนาพื้นที่ไปพร้อมกับนวัตกรรมยุคใหม่ ซึ่งจะทำให้ผู้ทอและนักออกแบบมีการปรับตัวและพร้อมรับกับการปรับเปลี่ยนของแฟชั่นยุคใหม่ สร้างพลังสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ที่ต่อยอดจากภูมิปัญญา ส่งผลให้เจ้าของพื้นที่มรดกทางภูมิปัญญาเกิดการตื่นตัว และเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตนเองมี เกิดเป็นความภาคภูมิใจในถิ่นฐานบ้านเกิด และรักในผืนแผ่นดินภูมิใจในความเป็นชาวกาฬสินธุ์อีกด้วย
สำหรับกิจกรรมในงานมีการรวมสินค้า OTOP ของดีเมืองกาฬสินธุ์ ชมการจัดแสดงนิทรรศออกแบบผ้าไหมแพรวาและผ้าพื้นเมือง ร่วมช๊อปสุดยอดผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมือง และผ้าไหมแพรวาที่ยกสินค้ามาจัดแสดงมากกว่า 100 แห่ง ตื่นตาตื่นใจกับการแสดงแบบ “พราวพัสตาแฟชั่นโชว์”การประกวด “อัตลักษณ์ชุดผู้ไทยกาฬสินธุ์แบบดั้งเดิม ชุดผ้าไทยใส่ให้สนุก ลายผ้าอัตลักษณ์ 18 อำเภอ” การประกวด “ออกแบบชุดราตรีโดยไม่ตัดเย็บ การแสดงจากศิลปินชื่อดัง และกิจกรรมต่างๆมากมาย