จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมจัดโครงการ มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม และยุติธรรมพบประชาชน ครั้งที่ 64 จังหวัดกาฬสินธุ์
วันที่ 23 สิงหาคม 2567 ที่อาคารกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ พลตำรวจโทพัฒนวุธ อังคะนาวิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ประธานพิธีเปิดโครงการ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม และยุติธรรมพบประชาชน ครั้งที่ 64 จ.กาฬสินธุ์ โดยมีนางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นายธณภัทร ณ ระนอง รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พล.ต.ต.ตรีวิทย์ ศรีประภา ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ พ.อ.ประวัติ จารุตัน รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายผดุงศักดิ์ อิ่มเอิบ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัตน์ ศรีมงคล ผอ.สำนักงานคุมประพฤติ จ.กาฬสินธุ์ รองศาสตราจารย์จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารกระทรวงยุติธรรม หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บริหารสถาบันการเงิน และประชาชนร่วมกิจกรรมและให้การต้อนรับ
พลตำรวจโทพัฒนวุธ อังคะนาวิน ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี ร่วมกับสำนักงานยุติธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ และสำนักงานบังคับคดีจังหวัดกาฬสินธุ์ บูรณาการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินการจัดโครงการ “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม และยุติธรรมพบประชาชน” ครั้งที่ 64 จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีภาคีเครือข่าย ประกอบไปด้วย ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินต่าง ๆ และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่เข้าร่วมจัดกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
โดยโครงการในวันนี้มี 4 กิจกรรม ประกอบด้วย การเสวนาความรู้ทางกฎหมาย และการสร้างการตระหนักเกี่ยวกับการวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ประชาชน การจัดบูธนิทรรศการประชาสัมพันธ์ ให้คำปรึกษาทางกฎหมายหรือการเงิน จำนวน 12 หน่วยงาน การมอบป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ประจำสถานีตำรวจ จำนวน 23 แห่ง และมอบป้ายศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน จำนวน 2 แห่ง และการให้บริการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ทั้งก่อนฟ้องและหลังศาลมีคำพิพากษา โดยประสานเชิญชวนลูกหนี้ เข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน รวมทุนทรัพย์ประมาณ 247,440,321.00 บาท
ด้านนางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหาหนี้สินทั้งระบบให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน กำหนดแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน และบูรณาการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาหนี้ เป็นไปอย่างยั่งยืนและไม่กลับมาเป็นหนี้ซ้ำอีก และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกร ตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยเหลือประครองภาระหนี้สิน และต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด -19 ในช่วงที่ผ่านมา ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นฟู และกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง