พช.หนองบัวลำภู ฝึกทักษะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองเป็นของฝาก ของที่ระลึก เชื่อมโยงงานวันพืชสวนโลก
วันนี้ 28 มิถุนายน 2567ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู ไปกันที่วิชชาลัยผ้าทอหนองบัวลำภู เทวาผ้าไทย ตำบลนาคำไฮ อำเภอเมืองหนองบัวลำภู โดยมี นายศศิน พัฒนภิรมย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู พร้อมด้วย นายดอกดิน ต้อมทอง พัฒนาการจังหวัดหนองบัวลำภู นายสุทธิรักษ์ ศรีสุเลิศ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชนฯ และ นักวิชาการพัฒนาชุมชน เพื่อติดตามและให้กำลังใจผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ในกิจกรรมฝึกอบรม(workshop) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นเมืองเป็นของฝาก ของที่ระลึก เชื่อมโยงงานวันพืชสวนโลก ที่จังหวัดอุดรธานี ในปี 2569
สำหรับวิชชาลัยผ้าทอ หนองบัวลำภู เทวาผ้าไทย เป็นแหล่งเรียนรู้ การทอทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม เอกลักษณ์ของผ้าทอที่นี่คือผ้าหนึ่งผืนจะมีลวดลายทั้งสองด้านที่ไม่เหมือนกัน ด้านหนึ่งเป็นลายยกดอกและอีกด้านหนึ่งเป็นลายมัดหมี่ และการคิดค้นเทคนิควิธีที่ทำให้ทั้งผ้ามีความนุ่มลื่นและมันวาวสวยงามแตกต่างจากที่อื่น คือนำน้ำซาวข้าวเหนียวพันธุ์ผัวหลง ซึ่งเป็นข้าวเหนียวประจำจังหวัดหนองบัวลำภู ไปแช่เส้นด้ายประมาณ 1 ชั่วโมง จะทำให้ได้ผ้าฝ้ายและผ้าไหมที่นุ่มลื่น เวลาปั่นเข้าหลอดก็จะง่ายขึ้นเช่นกัน และที่สำคัญวิชชาลัยผ้าทอ เทวาผ้าไทย ยังเป็นแหล่งผลิตภัณฑ์และจำหน่ายผ้าพื้นเมืองของจังหวัดหนองบัวลำภู
สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภู จึงจัดฝึกอบรมทักษาการพัฒนาฝีมือการผลิตภัณฑ์ผ้าพื้นเมืองให้เป็นของฝากของที่ระลึก ให้กับวิสาหกิจชุมชชนและผู้ประกอบการทั้ง 6 อำเภอเข้ารับการฝึกทักษะจากวิทยากรมืออาชีพ ภายใต้โครงการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสถาบันทางด้านการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง
นายดอกดิน ต้อมทอง พัฒนาการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวว่าสืบเนื่องจากจังหวัดหนองบัวลำภู โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดหนองบัวลำภูได้ดำเนินโครงการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสถาบันทางด้านการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง กิจกรรมหลัก ส่งเสริมและสร้างเครือข่ายเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการและสถาบันทางด้านการเกษตรให้มีความเข้มแข็ง
เพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย จังหวัดหนองบัวลำภู ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 6 อำเภอ โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนาเป็นของฝากของที่ระลึก จำนวน 18 ผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สอดรับกับแฟชั่นเสื้อผ้าที่จะร่วมในงานมหกรรมพืชสวนโลกที่จังหวัดอุดรธานี ในปลายปี 2569 ภายใต้วิสัยทัศน์ของจังหวัดหนองบัวลำภู กษตรเพิ่มมูลค่า เมืองผ้า น่าอยู่ น่าเที่ยว พัฒนาการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวในที่สุด
สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์ ผสข.หนองบัวลำภู