วอนราชการเป็นธรรมแก้ไข ชี้ผลกระทบ อุบัติเหตุ เศรษฐกิจพัง มลภาวะเป็นพิษ ทำวิถีชีวิตคนเมืองตกต่ำ
ข้าราชการบำนาญ นำชาวบ้านและผู้ประกอบการในจังหวัดกาฬสินธุ์ ล่ารายชื่อผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างระบบท่อประปา งบประมาณ 148 ล้านกว่า 20 รายชื่อ เพื่อแจ้งความผู้รับเหมาขาใหญ่เกียร์ว่าง ทำงานเหลาะแหละ กระท่อนกระแท่น สร้างปัญหาต่อชุมชน กระทบต่อสุขภาพ เสียโอกาสสร้างรายได้ เรียกร้องเยียวยาความเสียหาย เพราะเกิดปัญหาสะสมสารพัดมากว่า 5 ปี ทั้งอุบัติเหตุ มลพิษ วิถีชีวิตเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัวหลายรายถึงกับอพยพหนี เศรษฐกิจเสียหายมูลค่ามหาศาล
จากกรณี คณะกรรมการธรรมาภิบาล จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกับ ปปท.เขต 4 ลุยสอดส่องสืบโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองกาฬสินธุ์ ของกรมโยธาธิการและผังเมืองงบ 148 ล้านบาท “สร้าง 7 ชั่วโคตรยังไม่เสร็จ” ร้องเรียนหลายแล้วก็ยังสร้างเสร็จ แม้กรมโยธาฯขยายเวลาให้จนใกล้ครบสัญญาแล้ว นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันตรวจสอบโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องตลิ่งริมแก่งดอนกลาง งบ 39 ล้านบาท ซึ่งพบว่าเป็นผู้รับเหมารายเดียวกัน ด้านชาวบ้านแฉซ้ำตั้งแต่ร้องเรียนทั้ง 2 โครงการ ไม่เคยเห็นบริษัทรับเหมามาทำงานก่อสร้างต่อ ทำให้เกิดปัญหาสะสมเรื้อรังมานานกว่า 5 ปี ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเมืองกาฬสินธุ์พังยับกว่า 750 ล้านบาท ในขณะที่ผู้รับเหมากว่า 50 ราย เตรียมตบเท้าแจ้งความเอาผิดบริษัทใหญ่ และวอนกรรมาธิการ ปปช.-ปปง.สภาผู้แทนราษฎร อภิปรายปัญหานี้ในสภาฯ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 25 มีนาคม 2567 ที่บริเวณถนนพร้อมพรรณอุทิศ เชื่อมกับถนนเลี่ยงเมืองสงเปลือย เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นอีกจุดหนึ่งของโครงการรับเหมาก่อสร้างระบบท่อระบายน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองฯ นายประหยัด เรเชียงแสน ข้าราชการบำนาญ พร้อมด้วยนายสังวาลย์ การรักษา อายุ 51 ปี ผู้ประกอบการร้านอาหาร ได้รวบรวมรายชื่อชาวบ้าน และผู้ประกอบ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการรับเหมาดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นเอกสารประกอบแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.เมืองกาฬสินธุ์
นายสังวาลย์ การรักษา กล่าวว่า เปิดกิจการร้านอาหารและจำหน่ายพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับทั้ง 2 อย่างควบคู่กันมาหลายปี เคยมีรายได้กว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน แต่พอมีโครงการขุดท่อระบายน้ำมาลง โดยนำวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง และรถแบ็คโฮมาจอดริมถนนขวางหน้าร้านยังไม่พอ ยังขุดหน้าดินริมถนนหน้าร้านไว้เป็นหลุมลึก ร้านขายพันธุ์ไม้ฯ ต้องถูกปิดตายโดยปริยาย ขณะที่ร้านอาหารก็ซบเซา มีลูกค้าเข้าร้านน้อยลง ประสบปัญหาขาดทุน เพราะลูกค้าไม่มีที่จอดรถและเข้าร้านไม่ได้
“ผู้ประกอบการหลายรายประสบปัญหาเดียวกันหมด หลายคนต้องปิดร้านหนีเพราะขาดทุน ไม่มีเงินค่าเช่าที่ดินประกอบกิจการค้าขาย โดยมาจากสาเหตุเดียวคือปัญหาการก่อสร้างของงานกรมโยธาฯ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนสารพัด ที่เกิดจากความไม่รับผิดชอบของผู้รับเหมาขาใหญ่ที่ได้รับโครงการมาเพื่อพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ที่กลายเป็นการทำลายทำให้เมืองกาฬสินธุ์ ไม่ได้รับการพัฒนาตมงบประมาณแผ่นดินที่ กรมโยธาฯ ได้จัดสรรให้”
นายสังวาลย์ กล่าวอีกว่า เมื่อปัญหาหมักหมมทวีความรุนแรงมากขึ้นประชาชนได้รับความเดือดร้อนให้ภาวะเศรษฐกิจและภาวะจิตใจ ทำให้ตนและชาวบ้าน รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าที่อยู่บริเวณใกล้จุดก่อสร้างที่ถูกจัดเป็นโซนนิ่งในการท่องเที่ยว ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ ขาดโอกาสค้าขายสร้างรายได้ แม้ที่ผ่านมาเคยร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านศูนย์ดำรงธรรมฯและสำนักงานโยธาจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ทราบว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ประสานกับทางผู้รับเหมาเจ้าใหญ่ แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขสักที เพียงอ้างแค่ว่าผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ซึ่งนั่นเป็นปัญหาของผู้รับเหมาเอง แต่ทำไมไม่รีบเร่งหาทางแก้ไขอย่างอื่นเหมือนกับเป็นการอุ้มกันไว้ และทำไมต้องสร้างปัญหาให้คาราคาซังให้ชาวบ้านรับกรรมอย่างนี้ ผู้รับผิดชอบไม่รู้สักนิดเลยหรือว่าชาวบ้านเดือดร้อน เจ็บปวด กับปัญหาที่ผู้รับเหมาสร้างไว้ให้ เพราะผู้ประกอบการร้านค้าขาดทุนย่อยยับ และหลายรายได้เริ่มนับถอยหลังรอวันที่จะถูกธนาคารยึดบ้านยึดที่ดินแล้ว ทุกวันนี้จึงอยู่กับความจริงที่กล้ำกลืนฝืนทน ร้องเรียนแล้วหลายครั้ง เป็นข่าวหลายรอบ ก็ยังทำเฉย มาครั้งนี้ถือเป็นการเรียกร้อยครั้งสุดท้ายก็จะได้ร่วมกันลงชื่อเป็นหลักฐานเพื่อประกอบเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแจ้งความผู้รับเหมาที่เพิกเฉย ที่ทำให้เกิดปัญหาความเดือดร้อนและเสียโอกาสสร้างรายได้ และร้องขอฝ่ายยุติธรรมในการเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในโอกาสต่อไป
ด้านนายประหยัด เรเชียงแสน ข้าราชการบำนาญกล่าวว่า บริเวณที่มีการก่อสร้างโครงการดังกล่าวฯ ถือเป็นย่านธุรกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของเมืองกาฬสินธุ์ มีทั้งร้านอาหาร บ้านเช่า หอพัก เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังเป็นชุมชนใหญ่แต่ชาวบ้าน ผู้ประกอบการสองฟากถนนกลับได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างฯ มาตั้งแต่ปี 62 ซึ่งจุดถนนพร้อมพรรณอุทิศเดือดร้อนหนักมายาวนานและรุนแรงมาในช่วงประมาณ 8 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากผู้รับเหมานำเครื่องจักรมาทำการขุดเจาะแล้วก็หยุดงานไปเฉยๆ ทำให้เกิดมลพิษ และอุบัติเหตุ พอชาวบ้านร้องเรียนทีก็มีผู้รับเหมารายย่อยหน้าใหม่มาทำแค่วัน 2 วันก็หนีหยุดงานไป เป็นอย่างนี้ซ้ำๆซากๆ งานก่อสร้างก็ไม่เสร็จสักที
“ปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการที่พัก ร้านอาหาร บ้านเช่า หอพัก ขาดทุนย่อยยับและต้องปิดกิจการไป ผลกระทบนี้ทำให้ย่านธุรกิจตรงจุดนี้ที่กำลังเจริญก้าวหน้าก็ซบเซาและเงียบสงัดเสมือนเมืองร้าง นอกจากนี้ยังทราบว่าในส่วนผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวหลายรายทนไม่ได้กับสภาพปัญหาที่ส่งกระทบต่อสุขภาพได้อพยพไปอยู่ที่อื่น ในเมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นยังคงอยู่ ผู้รับเหมาทำงานไม่เสร็จ ก็จะได้ร่วมกับชาวบ้าน ผู้ประกอบการ สถานบันเทิง ล่ารายชื่อแจ้งความที่ได้แล้วเบื้องต้น 22 รายชื่อ เพื่อที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งแจ้งความ สภ.เมืองกาฬสินธุ์ และขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานยุติธรรม ทั้งนี้ ยังจะเรียกร้องในส่วนที่เสียหายและสิทธิที่พึงมีพึงได้ตามกฎหมาย ทั้งในส่วนของการเยียวยาสภาพจิตใจและความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงต้องการให้ผู้รับเหมาที่รับงานจากกรมโยธาธิการฯ ออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย เพราะที่ผ่านมายังเงียบหาย และทำมึนเมินเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆที่ชาวบ้านและผู้ประกอบการกำลังจะตายอยู่แล้ว“นายประหยัด กล่าวในที่สุด
สำหรับ 8 โครงการนั้น มีการเปิดเผยเบื้องต้น 6 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 415,000,000 บาท เป็นงบประมาณที่กรมโยธาธิการฯ กระทรวงมหาดไทย ได้อนุมัติให้จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นโครงการพัฒนาเมืองกาฬสินธุ์ ในช่วงปี 2562 เพื่อให้จ.กาฬสินธุ์ เจริญก้าวหน้าตามศักยภาพ โดยผู้รับงานนี้ เป็นผู้รับเหมาเป็นเจ้าเดียวกัน ที่ได้งานจากกรมโยธาฯ แต่ที่การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยทำงานในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันและมีการเบิกจ่ายเงินค่าจ้างบางส่วนไปแล้ว ประกอบด้วย (1) โครงการก่อสร้างเขื่อนกันตลิ่งริมลำน้ำปาว หน้าวัดใต้โพธิ์ค้ำ งบประมาณ 108,800,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 12 ก.ย.62 สิ้นสุดสัญญา 30 ก.ย. 64 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 ถึงวันที่ 5 ม.ค. 67 ผลงาน 79% ช้ากว่าแผน -21% เบิกจ่าย 50,377,600 บาท, (2) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี วัดใหม่สามัคคี ต.เจ้าท่า อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 59,306,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย. 63 สิ้นสุดสัญญา 9 พ.ย.65 ขยายเวลาจาก 10 ส.ค. 65 จำนวน 91 วัน แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาทถึงวันที่ 10 ส.ค.67 ผลงาน 26.22% ช้ากว่าแผน -73.78% เบิกจ่าย 14,978,900 บาท,(3) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี (ระยะ 2) วัดลำชีวนาราม ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 59,270,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย.63 สิ้นสุดสัญญา 10 ต.ค. 65 ขยายระยะเวลา 73 วัน ตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 65 แก้ไขสัญญา ค่าปรับเป็น 0 ถึงวันที่ 10 ส.ค. 67 ผลงาน 45.77% ช้ากว่าแผน -54.23% เบิกจ่าย 21,930,500 บาท (4.) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำปาว บริเวณซอยน้ำทิพย์ งบประมาณ 59,350,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 10 ก.ย. 64 สิ้นสุดสัญญา 10 ส.ค.66 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาท ถึงวันที่ 14 มิ.ย.67 ผลงาน 1.65% ช้ากว่าแผน -64.37 % เบิกจ่าย 8,902,500 บาท, (5) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำชี บ.หนองหวาย-บ.หนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 39,525,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 23 ก.ย.65 สิ้นสุดสัญญา 8 ก.พ.67 ผลงาน 0% ช้ากว่าแผน 0% เบิกจ่าย 5,928,750 บาท และ (6) โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำลำพาน ต.ลำพาน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ งบประมาณ 45,490,000 บาท เริ่มต้นสัญญา 23 ก.ย.64 สิ้นสุดสัญญา 4 ก.ค.66 แก้ไขสัญญาค่าปรับเป็น 0 บาท ถึงวันที่ 10 เม.ย.67 ผลงาน 15% ช้ากว่าแผน -59% เบิกจ่าย 11,753,000 บาท ส่วนอีก 2 โครงการ ยังไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูล ปปท.-ปปช. ยังให้ข้อสังเกตถึงการทำงานที่ไม่แล้วเสร็จด้วยว่า เหตุใดโครงการที่จึงไม่ถูกปรับเมื่อยังทำงานไม่เสร็จผิดกับการรับเหมาเจ้าอื่นที่หากก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจะต้องมีค่าปรับ