ชัยภูมิ (ชมคลิป) ชาวนาร่วมแรง “ลงแขกเกี่ยวข้าว” สืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทย


ชาวบ้านเหล่ากาดหญ้า อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ลงแขกเกี่ยวข้าว สืบสานวัฒนธรรม ประเพณี ย้อนยุควิถีชาวนาปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตชาวนาไทย

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน การเกี่ยวข้าวส่วนใหญ่จะมีการว่าจ้างรถเกี่ยวเป็นส่วนใหญ่ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงถึงไร่ล่ะ 800-1,000 บาท ขึ้นอยู่กับความอยากง่าย อีกทั้งรถเกี่ยวก็หายากหากรอนานข้าวก็จะแห้งกรอบ ชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันลงแขกเกี่ยวข้าวในชุมชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านบ้านเหล่ากาดหญ้า หมู่ 9 ต.หลุบคา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันลงแขกเกี่ยวข้าวช่วยเหลือเพื่อนบ้านในชุมชน เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และและสืบสานวัฒนธรรมประเพณี ที่ทำติดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น บางคนที่ไม่ได้ทำนา ก็จะได้รับเป็นข้าวแทนจากค่าแรง ในภายหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว โดยเจ้าของนา จะมีการคำนวณให้ ตามค่าแรงในชุมชนที่ให้กันคือวันล่ะ250-300บาท ทำให้ชาวบ้านที่มาช่วยพอมีข้าวกินกันในชุมชนได้อีกทาง

โดยการลงแขกครั้งนี้ ชาวบ้านได้ร่วมกันเกี่ยวข้าวในทุ่งนาอย่างสามัคคีกัน จากนั้นก็นำข้าวมาวางเรียงตากแดดบนตอซังข้าวหรือพื้นที่สูงไม่มีน้ำขัง เพื่อตากให้เมล็ดข้าวแห้ง ประมาณ 3-5 วัน หลังจากข้าวแห้ง ก็จะนำตอกที่จักจากไม้ไผ่ออกมามัดข้าวในยามเช้าและขนข้าวไปตีหรือสีเอาเมล็ดข้าวเปลือก ใส่กระสอบเข้าเก็บในยุ้งฉาง โดยการลงแขก ในครั้งนี้ มีชาวบ้านมาร่วมด้วยช่วยกันกว่า 20 คน พลัดเปลี่ยนกันช่วยเหลือซึ่งกันและ ซึ่งเป็นกิจกรรมย้อนยุควิถีชาวนาสืบสานวัฒนธรรม “ลงแขกเกี่ยวข้าว เช่นนี้เป็นประจำทุกปี


นายปัญญา เหล่าค้า อายุ 56 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านเหล่ากาดหญ้า หมู่ 9 ต.หลุบคา อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เผยว่า การ”ลงแขกเกี่ยวข้าว” ในครั้งนี้ ถือเป็นวิถีชีวิตของชาวนาเพื่อสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีและวัฒนธรรมการเกี่ยวข้าวแบบดังเดิมของบรรพบุรุษ ตลอดจนปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรุ่นใหม่มีความภาคภูมิใจในวิถีไทย สร้างความรักสามัคคีกันในชุมชน เพื่อยึดถือเกษตรแบบวิธีพอเพียง

อีกทั้ง เมื่อถึงช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว กิจกรรมลงแขกเกี่ยวข้าวถือว่าเป็นการสืบประเพณีไทยดั้งเดิมของไทยให้คนรุ่นใหม่ในสังคมไทยได้เห็นภาพวิถีชีวิตชาวนาในอดีตที่มีความรัก ความผูกพันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่เน้นเงินค่าจ้าง เข้ามาเกี่ยวข้องจากประเพณีนี้ และยังเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาร่วมฟื้นฟูประเพณีลงแขกไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทยในยุค Digital เช่นนี้ ซึ่งทางชุมชนก็จะดำเนินการเช่นนี้ต่อไปในทุกๆปีเพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยสืบไป

วิรัตน์ ดวงแก้ว ผู้สื่อข่าว จ.ชัยภูมิ