“ต้องกินข้าวในห้องนอน” ชาวบ้านสุดทนกลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมู ทำลายระบบทางเดินหายใจ สุขภาพจิตเสื่อมพร้อมล่ารายชื่อแจ้งตำรวจดำเนินคดี
ชาวบ้าน 2 ตำบลในอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ กำลังได้รับความเดือดร้อนสาหัส จากกลิ่นเหม็นของมูลหมู ที่โชยออกมาจากฟาร์มเลี้ยงหมูเอกชน 16 ฟาร์ม โดยมีผลกระทบจากมลภาวะเป็นพิษทางอากาศ ส่งผลให้สุขภาพจิตเสีย ปวดศีรษะหัวและเจ็บป่วยด้วยโรคทางลมหายใจ เรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบแก้ไข ล่าสุดล่ารายชื่อ และร้องทุกข์กล่าวโทษเอกชนและผู้เลี้ยงหมู ให้ตำรวจเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
วันที่ 20 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านถ้ำปลา หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.สหัสขันธ์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ชาวบ้านจำนวนหนึ่งนำโดยนายสมเพชร ไชยศาสตร์ อายุ 61 ปี นายหนูเดือน โคตะนนท์ อายุ 56 ปี และนายเดือน ไชยสาท อายุ 59 ปี ได้นำสมุดบัญชีล่ารายชื่อชาวบ้าน เพื่อร่วมลงชื่อเป็นหลักฐานในการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ กรณีมีนายทุนเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านทำฟาร์มเลี้ยงหมู แล้วเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงด้านมลพิษทางอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มเจ็บป่วย และบางคนเตรียมอพยพออกนอกพื้นที่
นายหนูเดือน โคตะนนท์ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 237 บ้านถ้ำปลา หมู่ 11 กล่าวว่า กลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมูนับวันจะรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีลมพัดมา และเวลาหัวค่ำถึงกลางคืน ทำให้ชาวบ้านถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับ และมีปัญหาต่อสุขภาพ หายใจไม่เต็มปอด ปวดศรีษะ บางคนเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ การดำเนินชีวิตในแต่ละวันเป็นไปด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นมานานหลายเดือน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ล่าสุด ยังพบว่ามีการขยายฟาร์มเลี้ยงหมูไปในพื้นที่ ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ ซึ่งเป็นเขตติดต่อกันกับ ต.สหัสขันธ์ และเริ่มส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้านอีกด้วย
ด้านนายเดือน ไชยสาท อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 58/1 บ้านถ้ำปลา หมู่ 3 กล่าวว่า มลพิษทางอากาศจากกลิ่นเหม็นมูลหมูเริ่มมาตั้งแต่ 2565 โดยมีบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เข้ามาส่งเสริมชาวบ้านเลี้ยงหมู โดยเลี้ยงในรูปแบบฟาร์มปิด มีการสร้างโรงเรือนอย่างใหญ่โต ช่วงแรกๆมีอยู่ไม่กี่ราย ก่อนที่ต่อมาได้ขยายเป็น 8 ราย จำนวน 16 ฟาร์ม โดยเลี้ยงรายละ 2 ฟาร์ม จำนวน 1,500 ตัว ฟาร์มเลี้ยงหมูแต่ละราย จะอยู่กระจายกันตามพื้นที่ใครมัน ซึ่งแต่เดิมเคยปลูกยางพาราและมันสำปะหลัง ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นฟาร์มเลี้ยงหมู บางฟาร์มอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2-5 กม. ขณะที่บางฟาร์มอยู่ให้กับอาคารบ้านเรือนของชาวบ้านเพียง 200 เมตรเท่านั้น
นายเดือนกล่าวอีกว่า ช่วงแรกที่หมูในฟาร์มยังตัวเล็กปัญหายังไม่เกิด แต่พอหมูโตขึ้น การให้อาหารเพิ่มมากขึ้นและปริมาณมูลหมูที่ขับถ่ายออกมาก็มากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นเหม็นโชยออกมาจากฟาร์มหมูตลอดวันยันคืน สำหรับบ้านตนอยู่ห่างจากฟาร์มหมูประมาณ 1 กม. ซึ่งได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นจากมูลหมูเกินสุดจะทนไหว จากที่เคยใช้ชีวิตปกติกับครอบครัว ลูกเมีย นั่งพักผ่อนสบายๆ นั่งรับอากาศดีๆ หรือนั่งล้อมวงทานข้าวบนแคร่หน้าบ้านอย่างเดิมก็ไม่ได้ เพราะกลิ่นมูลหมูเหม็นมาก ถึงขนาดลงทุนซื้อแอร์มาติดตั้งเพื่อให้ปรับอากาศ เวลาจะกินข้าวต้องยกสำรับไปกินในห้องนอนและปิดประตูหน้าต่างอย่างมิดชิด ก็พอที่จะบรรเทากลิ่นเหม็นลงได้บ้าง แต่รสชาติอาหารก็ไม่อร่อยเหมือนเดิม เพราะยังได้กลิ่นเหม็นอบอวลอยู่ จึงไม่ต่างกับกินข้าวกลางคอกหมู จึงเรียกร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มาลงพื้นที่ดูความทุกข์ยากของชาวบ้าน และเร่งรีบแก้ไขปัญหานี้ด้วย
ด้านนางสมัย ไชยสาท อายุ 59 ปี ภรรยานายเดือน กล่าวว่า ช่วงแรกที่เริ่มมีกลิ่นเหม็นจากฟาร์มหมูโชยเข้ามาในหมู่บ้าน ตนกับเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบก็แจ้งปัญหากับผู้นำชุมชน ให้ช่วยประสานนายทุนและเจ้าของฟาร์มหมู บริหารจัดการในฟาร์มดีๆ เพื่อที่จะไม่ส่งกลิ่นเหม็นรบกวน และสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านถ้ำปลา 2 หมู่บ้านกว่า 500 หลังคาเรือน แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะที่ตนเองและเพื่อนบ้านหลายคน เริ่มมีอาการไม่ปกติทางร่างกาย เหนื่อยหอบง่าย หายใจไม่เต็มปอด ปวดศีรษะ ไปหาหมอรับยามาทานก็ไม่ดีขึ้น เนื่องจากไม่มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ บางครั้งรู้สึกท้อแท้ใจ หากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข คงต้องอพยพออกจากหมู่บ้านนี้ไปอยู่ที่อื่น
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มีนายทุนเข้ามาส่งเสริมชาวบ้านตั้งฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ใน ต.สหัสขันธ์ถึง 16 ฟาร์ม และขยายเข้าไปในพื้นที่ ต.นามะเขือ โดยส่งกลิ่นเหม็นกระทบสุขภาพชาวบ้าน จนเกิดปัญหามลพิษทางอากาศ และได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส โดยยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานใด ตัวแทนชาวบ้านจึงได้ล่ารายชื่อ เพื่อร่วมกันร้องทุกข์กล่าวโทษนายทุนและผู้เลี้ยงหมู โดยได้ไปแจ้งความไว้ สภ.สหัสขันธ์แล้วเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2566 หลังจากที่เคยร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ 1 ครั้ง และอบต.สหัสขันธ์ 1 ครั้ง เพื่อขอพึ่งหน่วยงานภาครัฐและกระบวนการยุติธรรม ในการพิจารณาโทษนายทุนและผู้เลี้ยงหมูตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับกรณีนี้ เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว ชาวบ้านเคยร้องทุกข์กับผู้ใหญ่บ้านและนายทุน รวมทั้งทางอำเภอ เพื่อให้เข้ามาแก้ไข แต่เหมือนไม่มีใครให้ความสนใจ จึงอยากให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เข้ามาตรวจสภาพอากาศ สาธารณสุขเข้ามาดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งเกษตร ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม เข้ามาดูในส่วนของการให้ใบอนุญาต รวมทั้งศูนย์ดำรงธรรม ได้ลงพื้นที่ประสานกับชาวบ้านผู้เดือดร้อน เอาผิดและเยียวยาความเสียหายต่อสุขภาพด้วย ทั้งนี้ ในส่วนฟาร์มเลี้ยงหมูที่เป็นต้นเหตุของการเกิดกลิ่นเหม็นดังกล่าว หากมองด้วยตาเปล่าเหมือนจะไม่มีอะไร แต่หากดมกลิ่นดูแล้วจะรู้ว่ามีพิษภัยต่อสุขภาพของชาวบ้านเป็นอย่างมาก