จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับโรงเรียนในเครือข่ายสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ พื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด อบรมการใช้นวัตกรรมจิตศึกษา และ PLC ภายใต้โครงการ ACCESS SCHOOL ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน ให้กับบุคลากร ครู โรงเรียนประถมศึกษา เพื่อเพิ่มศักยภาพการเรียนการสอนปีการศึกษา 2566
วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ที่ห้องประชุมโรงแรมชาร์ลอง-บูทรีค อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดการอบรมขยายผลการใช้นวัตกรรมจิตศึกษา และ PLC ให้โรงเรียนในเครือข่ายสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม และ จ.ร้อยเอ็ด ภายใต้โครงการ ACCESS School ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน โดยมีนายอุทัย แก้วกล้า ประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ ดร.วิเศษ พลอาจทัน ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1 นายสุริยะ ใจวงษ์ ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 3 ผู้แทน ผอ.สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 พร้อมด้วยผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สพป.กาฬสินธุ์ เขต 1,2,3 และผู้อำนวยการสถานศึกษา บุคลากร จากโรงเรียนเครือข่ายสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.สารคาม จำนวน 346 คน เข้าร่วมโครงการ
นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในการอบรมขยายผลการใช้นวัตกรรมจิตศึกษา และ PLC ให้โรงเรียนในเครือข่ายสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ครั้งนี้ ได้ให้แนวทางการมีส่วนร่วมการพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะเป็นผู้สอนถ่ายทอดวิชาการ ความรู้ และการอยู่รวมกับคนในสังคม ให้รู้จักรักษาและพัฒนา วัฒนธรรมอันดีงานที่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมา และการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม รู้หน้าที่ เสียสละของนักเรียน นักศึกษา ในยุคปัจจุบัน ตามแนวทางการพัฒนา จ.กาฬสินธุ์ 3 ร่ำรวย ได้แก่ รวยวัฒนธรรม รวยน้ำใจ รวยสุขภาพ และ 3ใจ ได้แก่ เข้าใจ ไว้ใจ ร่วมใจ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เป็นประโยชน์ในสายงานอาชีพต่อไป
ด้านนายอุทัย แก้วกล้า ประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ กล่าวว่าสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป จัดโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือ โครงการ ACCESS School ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) สมาคมไทบ้าน และกลุ่มเครือข่ายโรงเรียนนอกกะลา(ภาคกลาง) สมาคมผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก จ.น่าน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้บริหาร ครู นักเรียนและส่งเสริมให้เครือข่ายภาคประชาสังคมเข้ามาหนุนเสริมด้านการจัดการศึกษา เพื่อสร้างกลไกการทำงานของภาคประชาสังคม กับโรงเรียนในเครือข่ายให้มีประสิทธิภาพ มีความยั่งยืนบนฐานของการมีส่วนร่วมให้ดียิ่งขึ้น
“ในการจัดโครงการครั้งนี้ เพื่อขยายผลสร้างโรงเรียนเครือข่ายการใช้นวัตกรรมจิตศึกษาและPLC ให้ครบตามเป้าหมายโครงการ, เพื่อให้ผู้อำนวยการโรงเรียน ครู มีความรู้ความเข้าใจ นำนวัตกรรมจิตศึกษาและPLC ร่วมสร้างวิถีจิตศึกษาใช้พัฒนาคุณภาพเยาวชนวัยเรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และเพื่อเชื่อมประสานผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เสริมหนุนให้เกิดแรงบันดาลใจ และเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่ระดับจังหวัด ทั้งนี้ ได้รับความอนุเคราะห์ วิทยากรให้การอบรมการใช้นวัตกรรมจิตศึกษาและPLC จากทีมวิทยากรโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โดยครูใหญ่วิเชีย ไชยบัง” นายอุทัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับการโครงการดังกล่าว เป็นกระบวนการในการสร้างการเปลี่ยนแปลง ที่เกิดจากหลักการ 3 อย่าง คือ มืออาชีพ เรียนรู้ และชุมชน ถือเป็นพื้นฐานของการรวมตัว ร่วมแรง ร่วมใจ ร่วมทำ และร่วมเรียนรู้ ให้โรงเรียนในเครือข่ายสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ จ.มหาสารคาม และจ.ร้อยเอ็ด ที่นอกจากการสร้างโรงเรียนต้นแบบนวัตกรรมแล้ว ยังมีกิจกรรมความร่วมมือ ขยายผลสร้างเครือข่าย ในการพัฒนาคุณภาพเยาวชนวัยเรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และที่สำคัญอย่างยิ่ง ยังเป็นการเชื่อมประสานผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้หนุนเสริมให้เกิดแรงบันดาลใจ รู้สึกเป็นเจ้าของและมีภาระหน้าที่ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระดับพื้นที่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มศักยภาพและเตรียมความพร้อมของบุคลากร ครู ในการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2566 นี้อีกด้วย