เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 18 มกราคม ที่พระอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ห้าแยกเขตเทศบาลนครอุดรธานี นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นประธานในพิธีฉลองการก่อตั้งเมืองอุดรธานี เข้าสู่ปีที่ 130 เพื่อน้อมรำลึกในพระกรุณาธิคุณ และพระเกียรติคุณ พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ต้นราชกุล ทองใหญ่ ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี ในพิธี มีหม่อมหลวงสุพิชฌาย์ ทองใหญ่ อัศวนันท์ ผู้แทนราชสกุลทองใหญ่ นายวันชัย คงเกษม ผวจ.อุดรธานี นำส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนมาร่วมรำบวงสรวงหลายหมื่นคน
นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี นำทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 130 รูป , เชิญพานพุ่มดอกไม้สด ถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระอนุสาวรีย์พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม , ประกอบพิธีสงฆ์ ถวายภัตราหารปิ่นโต จตุปัจจัยไทยธรรม , ประกอบพิธีสู่ขวัญบ้าน สู่ขวัญเมือง ด้วยพานบายศรียักษ์ มีนักศึกษาสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี รำบายศรีสู่ขวัญบ้านสู่ขวัญเมือง ก่อนประกอบพิธีถวายเครื่องบวงสรวงสังเวย
จากนั้นนายพลากร สุวรรณรัฐ อ่านประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติ พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งมีใจความว่า พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 25 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาสังวาล ประสูติ 5 เมษายน พ.ศ.2399 มีพระนามเดิมว่าพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าทองกองก้อนใหญ่ ทรงเป็นต้นราชสกุล “ทองใหญ่”
เมื่อ ร.ศ.112 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ไทยเกิดกรณีพิพาทเรื่องดินแดนกับฝรั่งเศส โดยฝรั่งเศสได้ส่งเรือรบเข้ามาปิดปากน้ำเจ้าพระยา บังคับให้ไทยยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ให้แก่ฝรั่งเศส โดยไทยจะต้องไม่มีกองกำลังทหาร ตลอดแนวลำน้ำโขง 25 กม. ซึ่งขณะนั้นพลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระองค์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลฝ่ายเหนือ มีกองบัญชาการตั้งอยู่ ณ เมืองหนองคาย จำเป็นต้องย้ายกองบัญชาการลงมาทางใต้
เมื่อวันที่ 18 มกราคม ร.ศ.112 ทรงเห็นว่าบ้านหมากแข้ง มีทำเลและชัยภูมิเหมาะสม ที่จะตั้งกองบัญชาการสามารถใช้เป็นศูนย์กลาง บังคับบัญชาหัวเมืองโดยรอบได้ จึงตั้งกองบัญชาการแห่งใหม่ขึ้น ณ ที่แห่งนี้ การตัดสินพระทัยของพระองค์ แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และพระวิริยะอุสาหะ ทรงอดทนต่อความลำบากไม่ได้ย่อท้อ ประกอบกับมีสายพระเนตรอันยาวไกล บ้านหมากแข้งจึงพัฒนาเจริญรุ่งเรืองเป็น จ.อุดรธานี ในปัจจุบัน
พลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ขณะดำรงพระชนชีพ ทรงเป็นนักการทหาร นักปกครอง ที่ปรีชาสามารถยิ่งพระองค์หนึ่ง อีกทั้งเชี่ยวชาญในศิลปะ วิทยาหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านการช่าง กวีนิพนธ์ การคลัง และยังคงรับราชการในตำแหน่งสำคัญ ผู้บังคับบัญชากรมทหารล้อมพระราชวัง , แม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ที่ยกกำลังไปปราบพวกฮ่อ ณ มณฑลลาวพวน เสนาบดีกระวงกลาโหม และองคมนตรี พระองค์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคอันตะพิการ เมื่อ 25 มกราคม 2467 สิริพระชันษา 68 ปี
หลังนายพลากร อ่านประกาศสดุดีเฉลิมพระเกียรติจบแล้ว ประชาชนชาวกว่า 10,000 คน สวนเสื้อสีแสด “สีของดอกทองกวาว” สีสัญลักษณ์ของเมืองอุดรธานี ตามที่อยู่ในบันทึกของพลตรีพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ว่าเมื่อครั้งยกไพร่พลจากหนองคาย ตามเส้นทางมาถึงบ้านเดื่อหมากแข้ง ต้นทองกวาวออกดอกตลอดทาง สวมผ้าถุงทอมือสีเข้ม พาดด้วยผ้าเบี่ยงหรือสไบ ผมทัดด้วยดอกทองกวาว มารำบวงสรวงสกดุดีนำมาลัยกรถวาย ถือเป็นประเพณีตั้งแต่ตั้งพระอนุสาวรีย์ฯ
การรำบวงสรวงของประชาชน มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่รำบวงสรวงล้อมรอบพระอนุสาวรีย์ญฯ ก็ถูกขยายไปบนถนน 5 สาย ประกอบด้วย ถนนทหาร 2 ด้าน , ถนนศรีสุข , ถนนโภคานุสรณ์ และถนนสุรการ เหมือนกันรัศมีสีแสด 5 แฉก “กินเนส เวิลด์ เรคคอร์ด” ได้บันทึกสถิติโลกไว้ แต่ในช่วงการระบาดโควิด-19 ได้งดรำบวงสรวงในปี 64 และปี 65 รำกระจายตามจุดต่างๆ และถ่ายทอดสัญญามาที่พระอนุสาวรีย์ฯ ในปีนี้ได้กลับมารำที่พระอนุสาวรีย์อีกครั้ง
