นำความห่วงใยของรัฐบาลถึงประชาชนชา เผยรัฐบาลจะทำงานอย่างเต็มที่ และขอบคุณทุกคนอย่างใจจริง จะไม่ทิ้งประชาชนอย่างแน่นอน
4 ต.ค. 65 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม เดินทางตรวจติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุบลราชธานี โดยเมื่อนายกรัฐมนตรี เดินทางถึงท่าอากาศยานขอนแก่น ได้ฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำ และสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ได้รายงานการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น แบ่งเป็น 3 กรณีคือ น้ำเหนือ คือน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ 2 สาย มาบรรจบกันที่ลำน้ำชีเขตรอยต่อขอนแก่น มหาสารคาม ลงอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งปัจจุบันปริมาณน้ำเกินความจุของอ่างฯแล้ว น้ำนอง คือน้ำค้างทุ่ง โดยเฉพาะฝนปีนี้มากกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ประมาณ 39% ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในเขตเศรษฐกิจเมืองขอนแก่นบริเวณบึงหนองโคตรและชุมชน น้ำหนุน จากจังหวัดมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ดยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ซึ่งมีผลทำให้ขอนแก่นระบายน้ำได้ช้าลง โดยจังหวัดขอนแก่น ได้นำโครงการระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนจังหวัดขอนแก่น งบประมาณ 376 ล้านบาท เริ่มมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 สิ้นสุด โครงการเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งจะช่วยเสริมการระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
หลังจากนั้น เวลา 11.00 น. นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางไปที่จุดสถานีสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า บึงหนองโคตร เทศบาลตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมืองขอนแก่น โดยจุดนี้เกิดน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นพื้นที่รอยต่อพื้นที่เศรษฐกิจเมืองขอนแก่นและมีหมู่บ้านจัดสรร บ้านเรือนประประชาชน ได้รับผลกระทบจำนวนมาก จากฝนที่ตกหนักจนน้ำจากบึงหนองโคตรระบายไม่ทันเอ่อนล้นเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนประชาชนหลายพันหลังคาเรือน
ขณะที่นายกเทศมนตรีตำบลบ้านเป็ด ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ รวมถึงสภาพปัญหาและข้อจำกัดในการระบายน้ำจากบึงหนองโคตร โดยเสนอแผนเพื่อเพิ่มช่องทางการระบายน้ำให้มากขึ้น จากเดิมที่มีเพียงช่องทางเดียวเพื่อป้องกันน้ำท่วมกรณีเกิดฝนตกหนัก ส่วนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเบื้องต้น ทางเทศบาลตำบลบ้านเป็ดได้ระดมเครื่องสูบน้ำจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 4 อบจ.ขอนแก่น และเครื่องสูบน้ำระยะไกลของศูนย์ ปภ.เขต 6 เร่งพร่องน้ำออกจากบึงหนองโคตรให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกมาอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปยัง โรงเรียนกีฬาจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้กำลังใจประชาชนจากตำบลโคกสี และตำบลบึงเนียม อ.เมืองขอนแก่น โดยทางจังหวัดขอนแก่นได้จัดตั้งเป็นศูนย์พักพิงของประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม มีประชาชนผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมมาร่วมประมาณ 500 คน ซึ่งทางจังหวัดขอนแก่น ได้มอบถุงยังชีพ และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไว้คอยดูแลรักษา ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงพี่น้องประชาชน ที่ได้รับผลกระทบว่า ทางราชการได้มีการเตรียมแผนการระบายน้ำท่วม โดยการพร่องน้ำ และการเยียวยาพี่น้องประชานชนให้เร็วที่สุด โดยยึดระเบียบเป็นสำคัญในการพิจารณาร่วมตามงบประมาณที่มีอยู่ นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า สิ่งต่าง ๆ ที่ประชาชนเดือดร้อนได้ฝากมายังนายก พร้อมที่จะรับทั้งหมด พร้อมที่จะแก้ไข และเดินไปข้างหน้า โดยจะพยายามทำให้เต็มที่ สิ่งสำคัญ จะทำอย่างไรให้พี่น้องประชาชนอยู่ได้ ซึ่งต้องอาศัยการเข้าใจซึ่งกันและกัน
พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า สถานการณ์ในขณะนี้คือแหล่งกักเก็บน้ำทุกแห่งมันเต็ม การระบายน้ำช่องทางธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำมูล แม่น้ำชี หรือเส้นทางน้ำต่างๆ ปริมาณน้ำเต็มไปทั้งหมด สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งคือทำอย่างไรไม่ให้น้ำเติมลงมาอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องยากเพราะเป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ หากไม่มีฝนตกลงมาก็จะระบายออกไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อน้ำลดทั้งหมดแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งบ้านเรือนที่พักอาศัยรวมทั้งพื้นที่การเกษตร ซึ่งได้รับความเสียเป็นวงกว้าง ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลได้มีโครงการต่างๆที่ทำขึ้นมาตั้งแต่ปี 65-66-67 ในการพร่องน้ำบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำชี-น้ำมูล ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำ ก็ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือด้วย หรือการระบายน้ำส่งไปยังพื้นที่ที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา
ในส่วนของสถานการณ์ที่ลุ่มน้ำมูลนั้น อย่างที่บอก ปริมาณน้ำมันมีมาก และมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่น้ำจะไหลลงที่ต่ำ เพราะฉะนั้นพื้นที่สูงก็จะค่อยๆลดลง ประสิทธิภาพในการระบายน้ำสายหลักคูคลองต่างๆมีน้ำเต็มไปหมด ก็ต้องอาศัยไม่ให้ฝนตกลงมาเพิ่มซึ่งเราคาดการณ์ไม่ได้ ก็ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิยา และก็จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาในภาพรวมทั้งหมด เพราะนี้คือภัยธรรมชาติ เราต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ ในส่วนของเขื่อนอุบลรัตน์ที่น้ำเต็มนั้น ตอนนี้ต้องมองภาพรวมว่าทุกเขื่อนอยู่ในปริมาณคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ 90-100 ทุกอ่าง ผลดีเราก็จะมีน้ำไว้ใช้หน้าแล้งผลเสียก็คือน้ำจะท่วม ก่อนที่ภายหลังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนก็ได้เดินทางไปติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดอุบลราชธานีต่อไป