อุดรธานี – อาชีวะ” โชว์ศักยภาพด้านการวิจัยฯ คว้ารางวัลประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2565”

เรืออากาศโท สมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประธานพิธีปิดและมอบโล่รางวัลการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 2565” ระหว่างวันที่ 15-21 สิงหาคม 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค อาคาร 9-10 เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ผลการตัดสินการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2565 มีผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ

รางวัลชนะเลิศ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้แก่ ผลงานเรื่อง “การศึกษาปริมาณเมทอกชิลของเพคตินจากกระเจี๊ยบเขียวที่มีผลต่อคุณภาพของแอลจิเนตแคปซูลในการผลิตไข่ปลาแซลมอนเทียม” โดย วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร

รางวัลชนะเลิศ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ได้แก่ ผลงานเรื่อง”ผลของประสิทธิภาพการย่อยหญ้าเนเปียร์ โดยใช้เอนไซม์ในลำไส้ปลานิล (In vitro digestibility) ที่ส่งผลต่อคุณภาพอาหารในการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ” โดย วิทยาลัยประมงสมุทรสาคร
โดยมีผู้บริหารและผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพร่วมกันในการจัดงานครั้งนี้ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีปิดและมอบโล่รางวัล ดังนี้
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนัฏฐ์คุณ มงคลอัศวรัตน์ นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
รองศาสตราจารย์ ดร.สายวรุฬ ชัยวานิชสิริ อุปนายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์และประธานกิจกรรมเยาวชน


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
ดร.ทวีศักดิ์ บันลือสินธุ์ กรรมการและผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรสัมพันธ์และรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ในการนี้ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการจัดงานและรายละเอียดประเภทของผลงานที่ร่วมประกวด โดยมีผลงานที่ได้รับการคัดเลือกทั้งในระดับจังหวัดและในระดับภาค เข้าร่วมประกวดดังนี้
1. ระดับ ปวช. มีโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าร่วมประกวด 20 โครงงาน (สถานศึกษาภาครัฐ 19 โครงงาน และสถานศึกษาเอกชน 1 โครงงาน)
2. ระดับ ปวส. มีโครงงานวิทยาศาสตร์เข้าร่วมประกวด 20 โครงงาน (สถานศึกษาภาครัฐ 19 โครงงาน และสถานศึกษาเอกชน 1 โครงงาน)


กิจกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์อาชีวศึกษา ระดับชาติ ในครั้งนี้ นับเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับนักเรียน-นักศึกษาอาชีวศึกษาที่ได้ผนึกกำลังร่วมกันแสดงศักยภาพในฐานะนักวิจัยรุ่นใหม่ เผยแพร่ผลงานและความสำเร็จออกสู่ประชาคมการวิจัยในเวทีระดับชาติ อีกทั้งเป็นการบูรณาการความร่วมมือในเชิงนโยบายระหว่างหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการวิจัย ซึ่งมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านทักษะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ให้กับผู้เรียน ควบคู่ไปกับการสร้างระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มอบแรงบันดาลใจและเอื้อให้ผู้เรียนเกิดความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์นั้นไปสู่ผลงานนวัตกรรมที่ใช้งานได้จริง บูรณาการองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการทั้งในระดับชุมชน สังคม เพื่อเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศต่อไป