วันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ที่วัดสว่างสุวรรณาราม ตำบลหนองแสง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานฝ่ายฆราวาสนำคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ และพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดนครพนม ประกอบพิธีบรรพชาอุปสมบทหมู่ จำนวน 14 รูป ตามโครงการ บรรพชาอุปสมบท 910 รูป เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ที่จังหวัดนครพนมและคณะสงฆ์จังหวัดนครพนมจัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อีกทั้งเพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ศึกษาพระธรรมวินัยและน้อมนำหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนามาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยมีพระราชสิริวัฒน์ เจ้าคณะจังหวัดนครพนม เจ้าอาวาสวัดสว่างสุวรรณาราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์
การบรรพชาอุปสมบท หรือการบวชเป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยและพุทธศาสนิกชนนิยมให้ลูกหลานเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ถึงแม้จะดำรงภาวะของความเป็นนักบวชเพียงชั่วระยะเวลาอันเล็กน้อยก็มีความพอใจ เพราะคนโบราณถือว่าคนที่ยังไม่ได้บวชเรียนเป็นคนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่ยังไม่ควรแก่การครองเรือน ดังนั้นผู้ชายทุกคนเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จะต้องบวชก่อน ซึ่งการบวชถือเป็นการอบรมบ่มนิสัย กล่อมเกลาจิตใจให้ทุกคนเป็นคนดี อยู่ในศีลในธรรม และเป็นการตอบแทนบุญคุณบิดามารดาผู้ให้กำเนิด ทำให้พ่อแม่ ญาติพี่น้องได้มีโอกาสทำบุญเพิ่มขึ้นจนเป็นที่มาของคำว่า เกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ อีกทั้งเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบุคคลที่เคารพนับถือ ทั้งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้มีความยั่งยืนและเชิดชูศาสนาพุทธให้รุ่งเรืองสืบไป โดยผู้ที่บวชจะได้ศึกษาข้อคิดและฝึกปฏิบัติปรับเปลี่ยนนิสัยตามพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในการใช้ชีวิตอยู่บนทางสายกลาง ยิ่งแก้ไขได้มากเท่าไหร่หนทางข้างหน้าจะยิ่งราบรื่นมากเท่านั้นเพราะ ใจจะคิดในสิ่งที่ควรคิด ปากจะพูดในสิ่งที่ควรพูด กายจะทำในสิ่งที่ควรทำ เป็นการนำความเจริญมาสู่ตัวเอง ครอบครัวและสังคม โดยคำว่า บรรพชา จะหมายถึงการบวชเป็นสามเณร ส่วนคำว่าอุปสมบท จะหมายถึงการบวชเป็นพระภิกษุ โดยก่อนการอุปสมบทจะต้องมีการบรรพชาเป็นสามเณรตามพระวินัยบัญญัติก่อน ทั้งนี้อนุญาตให้พระอุปัชฌาย์สามารถทำการบรรพชาได้โดยไม่ต้องประชุมสงฆ์ จากนั้นจึงจะมีการอุปสมบทเพื่อเป็นพระภิกษุ ดังนั้นจึงมักนิยมใช้คำควบคู่กันว่า บรรพชาอุปสมบท ในการบวชพระภิกษุ
ภาพ/ภัทรพล ปีติขารัชต์
ข่าว/ประทีป วชิระธัญญากุล
ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.นครพนม