เมื่อไม่นาน ที่โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการขยายผล ผลงาน “Thai Reach ไทยฤทธิ์ พิชิตความพิการ” มีผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ดังนี้ ดร.อรพินท์ สพโชคชัย คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีและยกระดับคุณภาพและประสิทธิภาพภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), นางพรนิภา มาสิลีรังสี รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, นางพชรพร ครองยุทธ และนางเกื้อกูล เพ็ชรสันทัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น, นายรวินท์ ชอบใช้ ภาคเอกชนผู้ประกอบการที่มีการจ้างงานให้แก่ผู้พิการ และนายนิรุต มีพิศ ผู้พิการที่เข้าร่วมออกแบบและพัฒนาแขนเทียม โดยมี แพทย์หญิงนภาพร สิงห์ขรเขียว ผู้อำนายการโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น แพทย์หญิงปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ และ Mr.James Francis Quilty III Co founder 3D designer Teacher of Thai Reach พร้อมคณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเข้าร่วมประชุมด้วย
ผลงาน “Thai Reach ไทยฤทธิ์ พิชิตความพิการ” ซึ่งจังหวัดขอนแก่น โดยโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น ได้รับรางวัลเลิศรัฐ สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการระดับดีเด่น จากสำนักงาน ก.พ.ร. เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา เป็นนวัตกรรม บริการเปลี่ยนชีวิต การพิมพ์มือเทียมช่วยเหลือผู้พิการ ซึ่งปกติมีราคาแพง ยากแก่การผลิตในประเทศ สถานพยาบาลบางแห่งไม่สามารถซื้อมาสำรองได้ ทำให้ผู้พิการไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ต่างๆ ได้ จนเกิดความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต จึงเป็นที่มาของกลุ่มก่อการดี ไทยฤทธิ์ (Thai Reach) ที่รวมตัวกันในโรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น สร้างมือเทียมให้ผู้พิการใช้แทนมือจริง ในชีวิตประจำวันได้ ผลิตโดยการใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ แห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้เส้นใยพลาสติกมาเป็นวัสดุในการผลิต มีน้ำหนักเบา ซ่อมแซมเองได้ง่าย มีราคาถูกลงถึง 70 เท่า โดยไม่จำกัดสิทธิ์การรักษา ฟรีโดยไม่มีเงื่อนไข และยังจัดอบรมให้กับผู้ที่สนใจทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ที่เข้ามาศึกษาดูงาน เพื่อสร้างเครือข่ายสถานีพิมพ์อีกด้วย นับเป็นนวัตกรรมบริการภาครัฐในรูปแบบใหม่ที่จะช่วยให้คนพิการสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ ลดความเหลื่อมล้ำ ใช้ชีวิตได้สะดวกเหมือนคนปกติทั่วไปได้มากขึ้น เป็นการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น เพื่อสร้างโอกาสแห่งความเท่าเทียมอย่างยั่งยืน การพัฒนาดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐแห่งนี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้บริการประชาชนได้ดีมากยิ่งขึ้น และประชาชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว โปร่งใส เป็นธรรม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย
ผลจากการประชุมในครั้งนี้ ทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จะนำไปขยายผลการดำเนินการให้กับหน่วยงานหรือพื้นที่อื่นๆ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและขยายผลในวงกว้าง โดยผลงานนี้มีจุดเด่นคือ เป็นนวัตกรรมกายอุปกรณ์มือเทียมที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่มีราคาถูก เพียง 1,000 บาท สามารถขยายสถานีพิมพ์ให้บริการไปยังคนพิการทั่วประเทศไทย ด้วยการฝึกอบรมด้วยเทคโนโลยี Internet of Things เป็นการให้บริการรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้คนพิการเข้าถึงมือเทียมที่ใช้การได้จริงในราคาที่ถูกลง ผลิตได้เองโดยไม่จำกัดสิทธิ์การรักษา พร้อมทั้ง พิจารณาประเด็นการจัดทำข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม ในการสร้างโอกาสในการเข้าถึงกายอุปกรณ์ ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือหน่วยงานอื่นๆ เช่น พก.พม. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา เป็นต้น ผ่านการประชาสัมพันธ์/จัดกิจกรรมกระตุ้นให้หน่วยงานต่างๆ นำผลงานไปขยายผล และร่วมกันติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป.
ไพฑูรย์ พรหมเทศ ทีมข่าวจังหวัดขอนแก่น รายงาน