นายก อบจ.ศรีสะเกษ ประกาศกร้าว ไม่รับย้ายสังกัด รพ.สต. 13 แห่ง หลัง ครม.ยื้อแทงกั๊กไม่ปล่อยวางถ่ายโอนอำนาจ ลั่นพร้อมรับทั้งหมด 117 แห่ง

 


เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 เม.ย. ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ (อบจ.ศรีสะเกษ) อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ กลุ่ม ตัวแทนบุคลากรโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ในจังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 117 แห่ง จำนวนกว่า 100 คน รวมตัวกันแต่งชุดดำแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นำโดย นายพรชัย ศรีปัตเนตร ผอ.รพ.สต.บ้านกุดโง้ง รองประธานชมรม รพ.สต. (ประเทศไทย) จ.ศรีสะเกษ และคณะ เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทบทวนการปรับลด การถ่ายโอน รพ.สต. และบุคลากร หลังคณะรัฐมนตรี มีมติ เมื่อในที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา ให้ปรับลดจำนวน รพ.สต. ที่จะมีการโอนย้าย จากสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มาสังกัด อบจ.ศรีสะเกษ กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 1 ต.ค. 65 นี้


โดยมีการปรับลดการรับถ่ายโอน จาก 117 แห่ง คงเหลือ 13 แห่ง รวมทั้งบุคลากร จาก 786 คน เหลือ 66 คน ทั้งที่ รพ.สต.ทุกแห่งในจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมใจและสมัครใจในการโอนย้ายทั้งหมด พร้อมเรียกร้องให้ต้นสังกัดเดิมอย่าเหนี่ยวรั้งการถ่ายโอน พร้อมกับตะโกนเรียกร้องด้วยข้อความว่า “รพ.สต.ศรีสะเกษ จะไป อบจ.” และขอให้ “กระทรวงสาธารณสุข ปล่อยเราไป” เพื่อการดูแลประชาชนได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว แบบใกล้ชิด เข้าใจปัญหาท้องถิ่น
ขณะที่ นายวิชิต ไตรสรณกุล นายก อบจ.ศรีสะเกษ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีประกาศฯ เรื่องหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนภารกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ 5 ต.ค. 64 ที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการถ่ายโอนการกิจสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยองค์การบริหารจังหวัด 49 แห่ง ได้พิจารณารับถ่ายโอนภารกิจดังกล่าวแล้ว


และองค์การบริหารส่วนจังหวัด บางแห่ง อยู่ระหว่างเตรียมการถ่ายโอน นั้น ปรากฏว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดสรรงบประมาณสำหรับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่รับการถ่ายโอน ได้จัดทำข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยมิได้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้เป็นไปตามประกาศฯ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเหตุให้กระบวนการถ่ายโอนภารกิจดังกล่าว และการบริการสาธารณะในด้านสาธารณสุข ได้รับผลกระทบ ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อระบบราชการและการให้บริการต่อประชาชน
ซึ่งในส่วนของ อบจ.ศรีสะเกษ การถ่ายโอนในครั้งนี้ อบจ.ศรีสะเกษเอง ไม่ได้ไปเรียกร้องขอให้ รพ.สต.ย้ายมาสังกัดท้องถิ่น แต่ทาง รพ.สต.ใน จ.ศรีสะเกษ ทั้ง 117 แห่ง ต่างสมัครใจมาเอง ในเมื่อสมัครใจมาทั้ง 117 แห่งแล้ว มีการปรับลดให้มาแค่ 13 แห่ง แล้วส่วนที่เหลือที่สมัครใจมาจะทำอย่างไร ถ้าหากเป็นกรณีที่ อบจ.ไปยื่นขอมา แล้วมีการปรับลดจำนวน ยังถือว่าพอเข้าใจได้ แต่กรณีนี้คือเราไม่ได้ไปยื่นขอมา แต่เป็นการขอมาอยู่กับเรา ฉะนั้นหากมีการถ่ายโอนมาเราก็ยินดีรับทั้งหมด แต่ถ้าหากจะให้โอนย้ายมาแค่ 13 แห่ง ตนไม่ขอรับการถ่ายโอน ไม่รับก็คือไม่รับ รับก็คือรับทั้งหมด


เพราะจริงๆแล้วเรื่องของสุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องของท้องถิ่นที่ต้องดูแล มีความเข้าใจความต้องการของประชาชน เข้าถึงได้มากกว่า ทราบปัญหา เราสามารถแก้ปัญหาได้รวดเร็วเบ็ดเสร็จในท้องที่เลย ไม่ต้องรอส่วนกลางมาแก้ปัญหา เพราะปัญหาของท้องถิ่นแต่ละท้องถิ่นไม่เหมือนกัน ดังนั้นส่วนกลางนั่งทำงานอยู่ในห้องแอร์ไม่มีวันเข้าใจความต้องการของแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริงทุกภูมิภาคของประเทศ จึงควรที่จะปล่อย รพ.สต.มาสังกัดท้องถิ่น เพื่อดูแลสุขภาพของพี่น้องประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป.


ทีมข่าว จ.ศรีสะเกษ // รายงาน