วันที่ 3 มีนาคม 2565 ที่บ้านหนองแสง ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม นายชวนินทร์ วงศ์สถิตจิรกาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานนำคณะหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกับสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอุตสาหกรรม 61 ทำกิจกรรมเปิดโรงเรือน และปลูกกัญชาต้นแรกที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อสร้างศูนย์กลางในการขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ ในการส่งเสริม พัฒนาการแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ และการวิจัย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรและสมาชิกรัฐวิสาหกิจทั่วประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข
ดร.วรทัศน์ แก้วก๋องมา ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม 61 แห่งชาติ เปิดเผยว่า เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม 61 ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข และได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ให้ผลิต ปลูกกัญชาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นแห่งแรกของประเทศ ดังนั้นในวันนี้ทุกคนจึงได้พร้อมใจกันทำกิจกรรมเปิดโรงเรือนและร่วมกันปลูกกัญาต้นแรกในสถานที่แห่งนี้ สำหรับแนวนโยบายในการขับเคลื่อนเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม 61 แห่งนี้นั้นมีการวางแผนนำร่อง โดยจะทำให้วิสาหกิจนี้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรกัญชาที่มีมาตรฐานในระดับนาโนและเข้าสู่ระดับสากล จากนั้นจะตามมาด้วยพืชกระท่อมและกัญชง นโยบายต่อมาคือการส่งเสริมเกษตรกรในกลุ่มอาชีพต่าง ๆ เพื่อแบ่งปันในสิ่งที่มีอยู่ เช่น เมล็ดพันธุ์กัญชาที่ทางเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม 61 ขึ้นทะเบียนครอบครองไว้มากสุดเป็นอันดับแรกของประเทศ คือ 105,000 เมล็ด รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้จากนักวิชาการ นักวิจัย แพทย์แผนไทย ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์กรสหวิชาชีพต่างๆ เพียงเกษตรกรในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายด้วยการทำบันทึกข้อตกลงหรือทำบันทึกความเข้าใจ
ทั้งนี้ในปัจจุบัน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอุตสาหกรรม 61 มีงานวิจัยเกี่ยวกับกัญชาสายพันธุ์ภูพานหางกระรอก หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ ไทยสติ๊ก(Thai Stick) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ดีที่สุดในโลก เพราะมีค่า THC (Tetrahydrocannabinol) หรือสารที่ทำให้เคลิ้มที่ทางการแพทย์ใช้ในการรักษามีค่าสูงมาก และมีสาร CBD (Cannabidiol) ที่ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงยังมีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่เป็นสายพันธุ์ต้นแบบอื่น ๆ อีกประมาณ 5 สายพันธุ์ เพราะต้องการนำมาประยุกต์กับสมุนไพรไทยในท้องถิ่นเพื่อเป็นตำรับการรักษาใหม่ ๆ ที่เป็นการขยายโอกาสและส่งเสริมสุขภาพ ทำให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรงและมีความผ่อนคลายนอกจากนี้ยังมีการวางแผนในการส่งเสริมเส้นทางการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับแหล่งปลูกกัญชาในพื้นที่ ให้กลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวกัญชาทางการแพทย์เชิงสุขภาพ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่กับเส้นทางธุรกิจที่รวมอัตลักษณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้าด้วยกัน
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญกุล นครพนม