สองสามีภรรยาเกษตรกรต้นแบบชาวอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ทิ้งอาชีพทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง หันมาทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ เลี้ยงง่าย รายได้ดี และสบายกว่าทำการเกษตรที่ต้นทุนสูงราคาขายผลผลิตไม่แน่นอน ทั้งยังมีเวลาว่างรวมกลุ่มกับเพื่อนบ้านทอผ้าไหมแท้เป็นสไบแพรลายตาคู่ ซึ่งเป็นลายประจำตำบล จำหน่ายสร้างรายได้ตลอดปี
เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของประชาชน ที่มีพื้นที่ทำกินนอกเขตใช้น้ำชลประทานในช่วงฤดูแล้ง หลังเก็บเกี่ยวผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว อ้อย มันสำปะหลังเสร็จสิ้น ซึ่งพบว่าส่วนมากว่างงาน เนื่องจากขาดแหล่งน้ำทำการเพาะปลูกพืชประจำฤดู เป็นสาเหตุของการอพยพแรงงานออกนอกพื้นที่ ปล่อยผู้สูงอายุอยู่เฝ้าบ้าน เลี้ยงหลาน และทำอาชีพเสริมเล็กๆน้อยๆ พอมีรายได้และอาหารจุนเจือครอบครัว
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้ง มีครอบครัว 2 สามีภรรยา ชาวบ้านโพนสวาง หมู่ 4 ต.นามะเขือ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ได้หันหลังให้กับอาชีพการเกษตร ทั้งทำนา ปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง โดยได้เปลี่ยนอาชีพใหม่ คือการทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน 3 สายพันธุ์ ทั้งบรามันห์ ชาโรเลส์และแองกัส ใช้เวลาเพียง 3 ปีประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านปศุสัตว์ระดับอำเภอ ทั้งยังมีเวลาว่างปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมจำหน่าย สร้างรายได้ตลอดปี โดยในแต่ละวันจะมี “นายฮ้อย” และผู้ประกอบการค้าขายโค รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานจากต่างถิ่น แวะเวียนมาติดต่อและสอบถามอย่างต่อเนื่อง
นายประเสริฐ นครชัย อายุ 58 ปี อยู่บ้านเลขที่ 155 หมู่ 4 บ้านโพนสวาง กล่าวว่า เดิมครอบครัวตนทำนา 9 ไร่ ปลูกอ้อย 10 ไร่ และปลูกมันสำปะหลัง 10 ไร่ ระยะหลังประสบปัญหาขาดทุน เนื่องจากปุ๋ยแพง ค่าแรงสูง บางปีฝนทิ้งช่วง ผลผลิตตกต่ำ ไม่คุ้มทุน ทำมากี่ปีๆก็ย่ำอยู่กับที่ เมื่อปี 2561 จึงคิดหาทางออกที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และความชอบของตนเอง คือการเลี้ยงโคเนื้อ เนื่องจากเนื้อโคเป็นนิยมของผู้บริโภคตลอดปี และราคาซื้อขายเริ่มขยับสูงขึ้น เริ่มแรกตัดสินใจหาซื้อแม่โคลูกผสม สายพันธุ์บราห์มันที่กำลังตั้งท้องมา 5 ตัว เพื่อประหยัดเวลาในการเลี้ยงและเห็นผลผลิตเร็ว
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า เมื่อแม่โคทั้ง 5 ตัวออกลูกมา ก็ได้จำนวนโคในคอกเพิ่มขึ้นเป็น 10 ตัว ก็เลี้ยงมาเรื่อยๆ มีโอกาสก็หาซื้อแม่โคที่กำลังตั้งท้องเพิ่มเข้ามา จำนวนโคก็ทวีขึ้นอย่างรวดเร็ว ก็กลายเป็นฟาร์มโคย่อมๆขึ้นมาเพียงเวลาไม่นาน ทั้งนี้เมื่อลูกโคโตขึ้นได้ขนาดและน้ำหนักพอขาย ก็จะขายเพศผู้ออกไป เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อโคเพศเมียเข้ามา เพิ่ม โดยจะเลี้ยงและรักษาโคตัวเมียเพื่อขยายพันธุ์ในฟาร์ม ทั้งนี้ เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค นอกจากจะเลี้ยงหรือขุนโคสายพันธุ์บรามันห์แล้ว ยังนำสายพันธุ์ชาโรเลส์ และแองกัส ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไปมาเลี้ยงด้วย
“การเลี้ยงโคขุนของตนทำง่ายๆ โดยขังอยู่ในคอกและอยู่ในบริเวณจำกัด ไม่ได้ปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง อาหารมีทั้งหญ้าสด ฟาง และอาหารเสริม ซึ่งมีกินพอเพียงตลอดปี เนื่องจากเปลี่ยนพื้นที่ทำนา 9 ไร่ เป็นนาหญ้า 8 ไร่ ขุดบ่อกักเก็บน้ำ 1 ไร่ เพื่อหล่อเลี้ยงนาหญ้า ขณะที่พื้นที่ที่เคยปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง รวม 20 ไร่ ให้เพื่อนบ้านเช่าทำกิน จึงมีเวลาดูแลโคขุนในฟาร์มอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ ได้ลงนามความร่วมมือกับผู้ประกอบการรับซื้อโคขุน โดยขายทั้งตัวราคาซื้อขายทุกสายพันธุ์ราคาเดียวกัน คือกิโลกรัมละ 100 บาท โดยโคอายุ 2 ปี น้ำหนักตัวละประมาณ 400-500 กิโลกรัมเริ่มจำหน่าย ซึ่งจะได้ราคาตัวละ 40,000-50,000 บาท” นายประเสริฐกล่าว
ด้านนางเกสร ฆารไสย อายุ 52 ปี ภรรยานายประเสริฐ กล่าวว่า หลังจากเปลี่ยนอาชีพจากการทำเกษตรมาเลี้ยงโคอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมองเห็นอนาคตการเลี้ยงโคขุนจะมีอนาคตดีกว่าทำนา ปลุกอ้อยและมันสำปะหลัง จึงได้ร่วมกับเพื่อนบ้านที่ต้องการเลี้ยงโค ไปขอคำปรึกษากับทางปศุสัตว์ อ.สหัสขันธ์ และ ธ.ก.ส.สาขาสหัสขันธ์ จากนั้นเข้าร่วมโครงการสร้างอาชีพ เพื่อขอสินเชื่อเป็นทุนจัดซื้อแม่โคมาเลี้ยงและขยายพันธุ์ ซึ่งที่ผ่านมามีการเลี้ยงโคเนื้อและโคขุน จำหน่ายหมุนเวียนเรื่อยมา ทำให้มีรายได้ใช้หนี้และจัดซื้อแม่โคเพิ่มเข้ามา ปัจจุบันมีโคในฟาร์ม 40 ตัว
นางเกสรกล่าวต่อว่า การเลี้ยงโคขุนเลี้ยงง่าย ไม่ต้องปล่อยเลี้ยงกลางทุ่ง ไม่ยากลำบาก ไม่เหนื่อย เหมือนทำการเกษตร เพียงแต่ไปตัดหญ้าที่นาหญ้า และซื้อฟางข้าวอัดก้อนมาตุนไว้ให้โคกิน ถึงเวลาก็ให้อาหารเสริมเท่านั้น จึงมีเวลาว่างเยอะ ทำให้มีโอกาสที่จะทำอาชีพอื่นเสริมมากขึ้น ซึ่งการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้า ถือเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเราทำกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายอยู่แล้ว เพียงแต่หาเวลาทำไม่ได้เท่านั้น ดังนั้น หลังจากเลิกทำนา เลิกปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง จึงมีเวลาที่จะสานต่ออาชีพทอผ้าอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ โดยการสนับสนุนของทางอำเภอสหัสขันธ์ และพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้รวมกลุ่มแม่บ้านตั้งกลุ่มปลูกหม่อนไหมเหลืองบ้านโพนสวาง มีสมาชิกกลุ่ม 16 คน กิจกรรมกลุ่มมีปลูกหม่อน เลี้ยงไหม รวมทั้งทุกกระบวนการทั้งสาวไหม เข็นไหม ทอผ้า ตัดเย็บและแปรรูป
นางเกสร กล่าวอีกว่า สำหรับเส้นไหมที่ผลิตได้เป็นไหมแท้ สีเหลือง ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของกลุ่มเรา ที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือสไบไหมลายตาคู่ ซึ่งเป็นลายประจำตำบลนามะเขือ จำหน่ายผืนละ 500 บาท ขณะที่ผ้าผืนหรือผ้าซิ่นไหม จำหน่ายราคาผืนละ 2,500 บาท โสร่งผืนละ 3,000 บาท โดยนำไปจำหน่ายตามนัดสินค้าโอทอป และทางออนไลน์ หรือเฟซบุ๊ก เซอร์ปอนด์ GPS Music อย่างไรก็ตาม จากความสำเร็จของการทำฟาร์มเลี้ยงโคขุน และทอผ้าไหมลายตาคู่จำหน่ายตลอดปี ทำให้จะมีนายฮ้อยหรือผู้ประกอบการค้าขายโคมาติดต่อซื้อ รวมทั้งมีคณะศึกษาดูงานจากต่างถิ่น แวะเวียนมาสอบถามอย่างต่อเนื่อง