มงคลฯหนุ่มสมองกล “คนศรีบุญเรือง” ร่วมกับ มรอ. คิดค้นนวัตกรรมรถอเนกประสงค์ขนาดเล็กเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวอินทรีย์ ไร้คนขับบังคับด้วยระบบ อีเลคทรอนิกส์ ผ่านการจดสิทธิบัตรคันแรกคันเดียวในประเทศไทย
จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นจังหวัดที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวค่อนข้างต่ำ โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร (GPP Per Capita) เท่ากับ 41,963 บาทต่อคนต่อปี หรือจัดเป็นลำดับที่ 77 ของประเทศ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) อาชีพส่วนใหญ่ของคนในจังหวัด คือ อาชีพเกษตรกรรม พึ่งพิงแหล่งน้ำจากธรรมชาติในการเพาะปลูก อย่างไรก็ตามอาชีพเกษตรกรปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตที่สูง ในขณะที่ราคาผลผลิตกลับตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรนิยมทำการเกษตรด้วยการปลูกพืชเชิงเดี่ยว พึ่งพาสารเคมีเกษตร ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์เกษตร ทั้งดิน และน้ำเป็นวงกว้าง
สำหรับพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดหนองบัวลำภูคือ ข้าวเหนียว “พันธุ์ผัวหลง” ซึ่งเป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่มีการปรับปรุงดั้งเดิมในท้องถิ่น คือพันธุ์เร้าแตก ข้าวพันธุ์ผัวหลงนี้มีคุณสมบัติเด่นจนถูกยกย่องให้เป็น “ราชินีข้าว” เนื่องจากเป็นข้าวพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมและมีความเหนียวนุ่ม เป็นที่นิยมในการบริโภค มีพิกัดหลักในการปลูกข้าวพันธุ์นี้ โดยเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวพันธุ์ผัวหลงมากที่สุด คือ ตำบลบ้านค้อ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู โดยมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จัดตั้งเป็น บริษัทเกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัวลำภู (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ทำการผลิตและจัดจำหน่ายข้าวพันธุ์ผัวหลงจนเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
ปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ นี้ประสบปัญหาต่างๆ ในการผลิต ได้แก่การขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร กลุ่มฯ ต้องการผลิตข้าวในรูปแบบข้าวอินทรีย์ ซึ่งในการผลิตข้าวอินทรีย์ เป็นระบบการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทางการเกษตรทุกชนิดเป็นต้นว่า ปุ๋ยเคมี สารควบคุมการเจริญเติบโต สารควบคุมและกำจัดวัชพืช สารป้องกันกำจัดโรค แมลงและสัตว์ศัตรูข้าว ตลอดจนสารเคมีที่ใช้รมเพื่อป้องกันกำจัดแมลงศัตรูข้าวในโรงเก็บ ดังนั้นการจัดการทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการไถ่ หว่าน ปลูก กำจัดวัชพืช ให้น้ำและปุ๋ยอินทรีย์ รวมทั้งการเก็บเกี่ยวไม่สามารถใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทั่วไปได้ เนื่องจากต้องระมัดระวังปัญหาการปนเปื้อนสารเคมีจากการปลูกข้าวแบบปกติทั่วไป
ข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์ผัวหลง ซึ่งจะต้องเก็บเกี่ยวให้เสร็จภายใน 3-7 วันเพื่อให้ได้ข้าวที่มีกลิ่นและรสชาติที่ดีที่สุด จึงต้องการเครื่องมือเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยว การลงทุนเครื่องจักรกลเกษตรตามปกติ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทั้งต้นทุนเริ่มต้นในการซื้อและต้นทุนในการบำรุงรักษารถเก็บเกี่ยวทั่วไปมีปัญหาในการเข้าทำงานในพื้นที่พื้นที่ปลูกข้าวที่มีแปลงขนาดเล็กและมีลักษณะพื้นที่ไม่ราบเรียบสมํ่าเสมอ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาแนวทางในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวข้าวอินทรีย์พันธุ์ผัวหลงนี้ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวและกิจกรรมในการผลิตอื่นๆ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่กล่าวมาในข้างต้น อีกทั้งเป็นวิธีการในการลดต้นทุนการผลิตอีกทางหนึ่ง
ดร.กาญจนา ดาวเด่น หัวหน้าโครงการการพัฒนานวัตกรรมรถเอนกประสงค์ขนาดเล็กเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวอินทรีย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ กล่าวว่าหากสามารถพัฒนาเครื่องมือ เครื่องจักรกลเกษตร ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นการพัฒนาเครื่องยนต์ต้นกำลัง การพัฒนาส่วนเชื่อมต่อกับส่วนขยายงานที่หลากหลาย การใช้ระบบไฮดรอลิคเพื่อช่วยการยกและบรรทุกผลผลิตและวัสดุทางการเกษตร รวมทั้งการเชื่อมโยงกับระบบการบังคับแบบกึ่งอัตโนมัติ ให้ตอบสนองความต้องการ ในการปลูกข้าวอินทรีย์ของกลุ่ม โดยการพัฒนาจากรถอีแต็กที่มีอยู่นี้ จะสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยแรงงานในการผลิต ทั้งยังเป็นการปูพื้นฐานและจุดประกายในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้เกษตรกรรุ่นใหม่ในประเทศต่อไป
ดร.กาญจนาฯ กล่าวต่อว่าจากประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น จึงร่วมมือกับ คุณมงคล พรมดวงดี เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์มิสเตอร์ฮอนด้าเซอร์วิส ชาวอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งมีประสบการณ์ในการซ่อมเครื่องจักรเครื่องกลเครื่องยนต์ทั้งในและต่างประเทศมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี และเป็นนักคิดนักออกแบบนวัตกรรมที่ไม่เหมือนใครในการใช้ระบบอีเลคทรอนิกส์ใช้แทนแรงานคนเป็นการลดต้นทุนในการทำงานภาคเกษตรและอุตสาหกรรมในครัวเรือน จึงนำไปสู่การวิจัยเพื่อคิดนวัตกรรมรถเอนกประสงค์ขนาดเล็กเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวอินทรีย์(โดยเฉพาะข้าวผัวหลง)ซึ่งปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจฯ นี้ประสบปัญหาต่างๆ ในการผลิต
คณะวิจัยฯ จึงได้ร่วมกันกันหาวิธีการพัฒนาเครื่องจักรกลเกษตร และได้ข้อสรุปว่ารถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก จาก “รถอีแต๊ก” ซึ่งเป็นรถบรรทุกเพื่อการเกษตร ที่เป็นรถที่มีขนาดเล็ก เครื่องยนต์ที่ใช้มีขนาดแรงม้าตํ่า ประหยัดนํ้ามันในการขับเคลื่อน ให้มีความสามารถในการทำงานได้ ด้วยการปรับปรุงและพัฒนาข้อจำกัดของรถอีแต็กโดยทั่วไปใน 3 ประเด็น ด้วยการลดจำนวนคนงานควบคุมรถจากจำนวน 2 คน เหลือเพียง 1 คน ปรับเปลี่ยนวัสดุโครงสร้างของรถอีแต๊กซึ่งแต่เดิมเป็นวัสดุเหล็กที่หนา ให้เป็นวัสดุที่เบาลง เพื่อลดภาระที่ต้องแบกรับนํ้าหนักมาก ส่งผลให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและต้นทุนการผลิตสูงเกินจำเป็น พัฒนาให้สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชนิดไบโอดีเซล (ปาล์มดีเซล) เป็นเชื้อเพลิงดีเซลที่ผลิตได้จากผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ พัฒนาให้สามารถนำส่วนขยายอื่นๆ มาต่อพ่วงกับตัวรถอเนกประสงค์ฯ นี้ได้เพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกร สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้มุ่งเน้นพัฒนาส่วนขยายเพื่อการเก็บเกี่ยวผลผลิต พัฒนาการสั่งการรถอเนกประสงค์ขนาดเล็กนี้ด้วยระบบบังคับระยะไกลกึ่งอัตโนมัติ
กรอบการวิจัยที่ได้แสดงถึงเป้าหมายและตัวชี้วัดของชุดโครงการ และมีการแสดงความเชื่อมโยงโครงการย่อยภายในชุดเพื่อตอบเป้าใหญ่ร่วมกันตั้งแต่การรวบรวมข้อมูลและพัฒนาระหว่างปี 2564-2565 โดยพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างของรถอเนกประสงค์ทางการเกษตรขนาดเล็กให้มีความเหมาะสมกับการใช้งานในท้องถิ่นโดยเพิ่มการพัฒนาส่วนต่างๆ ดังต่อไปนี้เพื่อสร้างระบบอัตโนมัติผานไถด้านหน้า ส่วนขยายเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว เพิ่มระบบอัตโนมัติและระบบเชื่อมโยงกับฐานปฎิบัติการควบคุม ซอฟแวร์ เซ็นเซอร์ สื่อสาร และระบบเชื่อมสัญญาณ โดยกำหนดกรอบเวลาในการศึกษาพัฒนาและแผนการดำเนินงาน 1 ปี จากนั้นจะเป็นการพัฒนาและต่อยอดเพื่อให้โครงงานนี้ได้เสร็จสมบูรณ์
สุภัชรกานต์ แก้วสิงห์/ปรานี ผาดำ ขตว.จังหวัดหนองบัวลำภู