วันที่ 11 ธันวาคม 2564 ที่จังหวัดนครพนม ที่บริเวณถนนสวรรค์ชายโขง หมู่บ้าน 8 ชนเผ่า อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน Kick Off กัญชาริมฝั่งโขง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กระทรวงสาธารณสุข โดยเขตสุขภาพที่ 8 ร่วมกับจังหวัดนครพนมจัดขึ้นเพื่อขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ สร้างกระแสการใช้กัญชาในการดูแลสุขภาพ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยวกับเส้นทางธุรกิจที่รวมอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น เชื่อมโยงกับแหล่งปลูกกัญชาทางการแพทย์ ให้กลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวกัญชาทางการแพทย์เชิงสุขภาพ (Medical and Wellness Tourism) เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับกัญชา การแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชา ระหว่างหน่วยภาครัฐ ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่สนใจ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันการแพทย์ทางเลือกโดยการใช้กัญชาเป็นการรักษาที่โรงพยาบาลหลัก ๆ ทั่วประเทศมีการให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงแล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าสารสกัดจากกัญชาสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายโรค หรือสามารถลดความทุกข์ทรมานจากการเจ็บป่วยของบางโรคได้ในระดับหนึ่ง และกำลังเร่งวิจัย พัฒนา คิดค้นผลิตภัณฑ์ นวัตกรรมใหม่ๆจากสมุนไพรกัญชา กัญชง เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและถูกนำไปใช้ส่งเสริม ป้องกัน เยียวยา ฟื้นฟูสุขภาพ และสร้างสุขภาพที่ดีให้กับพี่น้องประชาชนทุกคนโดยไม่เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย โดย 1 ปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกันผลักดันแก้กฎหมายกับฝ่ายต่าง ๆ ทำให้ต้น กิ่ง ก้าน ใบ รากของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติดควบคุมประเภทที่ 5 อีกต่อไป และเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ก็ได้มีประมวลกฎหมายอาญายาเสพติดฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศรายชื่อยาเสพติดฉบับใหม่ ทั้ง 5 ประเภท และกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาที่มีค่า THC (Tetrahydrocannabinol) เกินกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเป็นยาเสพติดตามมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เราใช้อยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น สบู่ เครื่องสำอาง อาหารเสริม จึงสามารถใช้ได้อย่างถูกต้องเพราะมีปริมาณสารสกัดไม่เกิน หรือแม้กระทั่งการใช้ใบกัญชาถ้ามีสารสกัดต่ำกว่า 0.2 เปอร์เซ็นต์ก็สามารถใช้ได้เช่นเดียวกัน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องน่ายินดี โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่ถูกคุกคามจากไวรัสโควิดเช่นนี้ ที่ทำให้ทุกอย่างช้าลง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นประชาชนจะได้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นอีกช่องทาง ในการทำมาหากินเสริมสร้างรายได้ให้กับครอบครัว โดยผู้ที่สนใจจะปลูกไว้ใช้ในครัวเรือน ทำอาหาร ทำกับข้าว ทำยาสมุนไพรตามตำราของกรมแพทย์แผนไทย สามารถไปขอจดแจ้งได้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยที่ไม่ต้องรอไปทำกับวิสาหกิจชุมชนอีกต่อไป ทั้งนี้ต้องแจ้งรายละเอียดให้ชัดเจนและต้องไม่ทำนอกเหนือจากสิ่งที่ขอจดทะเบียน และโดยสภาพพื้นที่ของภาคอีสานเหมาะกับการปลูกกัญชาเป็นอย่างมาก ยิ่งถ้าปลูกแบบใช้โรงเรือนและตามหลักวิชาการจะได้ผลผลิตที่มีมาตรฐาน เท่าที่ทราบมาใบกัญชาที่ปลูกในจังหวัดนครพนมเคยพุ่งไปถึงกิโลกรัมละ 5,000 บาทเลยทีเดียว
ข่าว/ภาพ ประทีป วชิระธัญญากุล ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดนครพนม