ช็อก!!! “วาดา” ลงโทษกีฬาไทย 1 ปี ด้าน “บุญลือ” ป.กมธ.กีฬา แนะรัฐขออนุญาโต-ศาลโลก อุทธรณ์การลงโทษจาก WADA เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาจะร้องศาลโลกก็ควรดำเนินการ ลั่นพร้อมเร่งผลักดัน กฏหมายห้ามสารกระตุ้น
ประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร แนะรัฐควรขออุทธรณ์การลงโทษจาก “วาดา”ระบุคณะกมธ.กีฬาฯ พร้อมเต็มที่ในการขับเคลื่อนแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางกีฬา พ.ศ.2555 เพื่อให้สอดคล้องกับ ธรรมนูญการต่อต้านการใช้สารต้องห้ามโลกฉบับปี 2021 ทันที
กรณี “วาด้า” องค์กรต่อต้านสารต้อห้ามโลก ออกแถลงการณ์ว่า ไม่ให้การรับรอง เกาหลีเหนือ,อินโดนีเชีย และประเทศไทย ในการเป็นเจ้าภาพและเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาค ทวีปหรือระดับโลก เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งประเทศไทยถูกแบนเพราะไม่ทำตามข้อบังคับหรือธรรมนูญของ “วาด้า” แม้จะสามารถส่งนักกีฬาแข่งขันได้ แต่กลับไม่สามารถแข่งขันภายใต้ธงชาติไทยได้ในมหกรรมกีฬาทุกชนิด ยกเว้นในโอลิมปิดเกมส์ จนกว่าจะมีการยกเลิก
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย ดร.บุญลือ ประเสริฐโสภา ส.ส.ราชบุรี เขต 5 พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า กรณีความเคลื่อนไหวของ “วาด้า” คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้ติดตามตลอด และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเรื่องนี้เข้าพิจารณาเป็นเรื่องด่วน ซึ่งได้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้อง มาร่วมประชุมชี้แจง ได้แก่ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย นายแพทย์มีชัย อินวู๊ด ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย นางสาวธำรงลักษณ์ ลาพินี กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมาการกฤษฎีกา นายปรัชญา เจียสกุล นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ นายแพทย์วารินทร์ ตัณฑ์ศุภศิริ รองประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และพลเรือเอก อภิวัฒน์ ศรีวรรธนะ รองเลขาธิการคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
“ที่ประชุม ได้ร่วมกันพิจารณาปัญหาทราบว่า เหตุที่ตัดสิทธิ์ไทย 1 ปี เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามธรรมนูญขององค์กรในด้านของการบังคับใช้กฎหมาย (World Anti-Doping Code 2021) ซึ่งไทยโดนลงโทษใน 4 กรณี ได้แก่ 1. ไทยจะไม่สามารถร่วมเป็นกรรมการ และรับทุนสนับสนุนจาก WADA ได้ 2. ผู้แทนรัฐบาลไทยที่เป็นกรรมการในสหพันธ์กีฬานานาชาติจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่หนึ่งปี 3. ไทยจะไม่สามารถเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬานานาชาติ ระดับภูมิภาค ทวีป และโลก
ที่เป็นเกมส์กีฬาที่มี WADA รับรองการแข่งขัน (ยกเว้นโอลิมปิกเกมส์ และพาราลิมปิกเกมส์) โดยข้อนี้จะเกิดผลกระทบในการที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพ กีฬาเอเชี่ยนอินดอร์ แอนด์ มาร์เชียลอาร์ต เกมส์ เดือนมีนาคม 2565 และ 4. ห้ามใช้ธงชาติไทย เพลงชาติไทย ในพิธีมอบเหรียญรางวัลที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค ทวีป และโลก ที่ WADA รับรองการแข่งขัน โดยข้อนี้จะเกิดผลกระทบในการที่นักกีฬาไทย จะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิคฤดูหนาว ที่กรุงปักกิ่ง ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 และหากยังไม่มีการแก้ไขปัญหา จะส่งผลให้ทุกสมาคมกีฬาไม่สามารถส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติได้”
ดร.บุญลือ กล่าวว่า ประเด็นที่ประเทศอื่น ๆ ถูกลงโทษ คือ การละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎของ WADA ในการตรวจสารต้องห้ามไม่ครบถ้วน แต่ในกรณีของประเทศไทยเป็นเรื่องการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศที่ไม่สอดคล้องกับ WADA ซึ่งในประเด็นการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศของไทยให้สอดคล้องกับกฎของ WADA นั้น ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นว่า กฎการใช้สารต้องห้ามของ WADA เป็นกฎที่ออกด้วยองค์กรเอกชน ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยพยายามแก้ไข ปรับปรุงกฎหมายในลำดับรองให้สอดคล้องกับกฎของ WADA แต่ปัญหาสำคัญคือ WADA จะมีการปรับปรุงกฎแทบทุกปี โดยมีการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับกฎของ WADA ได้ทัน โดยเฉพาะกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักนั้น มีขั้นตอนการพิจารณาและต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งหากพิจารณาความจำเป็นเร่งด่วนในการออกเป็นพระราชกำหนด ตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญ จะต้องพิจารณาจากผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนการตราเป็นกฎหมายตามแผนปฏิรูปประเทศ ตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญนั้น อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นเพื่อเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป และบัดนี้ จากการได้รับมอบหมายให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงประเด็นต่าง ๆ ของกฎหมายเพื่อรองรับและสอดคล้องกับกฎของ WADA ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 อาทิ บทนิยาม บทกำหนดโทษ ความเป็นอิสระขององค์กรตรวจสารต้องห้าม และประเด็นอื่น ๆ เพื่อปลดล๊อคให้มีการแก้ไขกฎหมายได้ง่ายขึ้น เช่น การเพิ่มอำนาจรัฐมนตรี หรือคณะกรรมการ ทางคณะทำงานแก้ไขกฎหมายของกฤษฎีกาได้แก้ไขปรับปรุงกฎหมายเรียบร้อยแล้ว โดยจะมีการประชุมสรุปเรื่อง ความเป็นอิสระขององค์กรควบคุมสารต้องห้ามทางการกีฬาของไทย ในวันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน 2564 และจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน หรือต้นเดือนธันวาคม ศกนี้
ในส่วนของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ในการส่งนักกีฬาไปแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ในนาม “ทีมชาติไทย” ได้รับผลกระทบไม่มากนักต่อกรณีนี้ แต่มิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และได้บูรณาการการทำงาน ร่วมกับการกีฬาแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆให้ลุล่วง โดยมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด
ดร.บุญลือ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติให้การกีฬาแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ได้ร่วมกันดำเนินการเสนอกฎหมายสารต้องห้ามฯ อย่างเร่งด่วนภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 และขอให้ร่วมกันพิจารณาแนวทางการขออุทธรณ์การลงโทษจาก WADA พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้มีความรวดเร็วที่สุด หรือแม้แต่หากมีเหตุผลและช่องทางในการอุทธรณ์ไปถึงอนุญาโตตุลาการหรือศาลโลกก็ควรดำเนินการ โดยในส่วนของคณะกรรมาธิการกีฬา ซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการยกร่างและแก้ไขกฎหมายกีฬาโดยตรงอยู่แล้วก็พร้อมที่จะช่วยผลักดันให้มีการออกกฎหมายสารต้องห้ามฯ อย่างเต็มที่ และจะทำให้เร็วที่สุด ลดขั้นตอนการพิจารณากฎหมายให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาได้โดยตรง
#อีสานเดลี่ออนไลน์