บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลขอนแก่น ยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการสั่งซื้อเอทีเค ตรวจสอบไม่พบเรื่องเสนอซื้อ พร้อมร้องเรียนให้ตรวจสอบการบริหารงานที่พบความผิดปกติหลายเรื่อง
วันที่ 3 พ.ย. 64 ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น แพทย์หญิงจรรยาภรณ์ รัตน์โกศล แพทย์เชี่ยวชาญ ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมภายในรับแจ้งเรื่องศูนย์ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โรงพยาบาลขอนแก่น พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ ได้เดินทางยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อ นพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์ สสจ.ขอนแก่น กรณีให้ตรวจสอบการบริหารงานของ นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น
แพทย์หญิงจรรยาภรณ์ รัตน์โกศล กล่าวว่า ตลอด 1 เดือนที่ นพ.เกรียงศักดิ์ เข้ามาบริหารงาน หลายประเด็นไม่ปฏิบัติตามธรรมเนียมที่เคยทำกันมา ดำเนินการข้ามขั้นตอน จนทำให้บุคลากรทางการแพทย์หลายคนมีความเคลือบแคลงสงสัย จึงได้มีการประชุมคณะกรรมการโรงพยาบาล จนมีมติร่วมกันว่า จะยื่นหนังสือให้ตรวจสอบการบริหารงานของผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น
สำหรับประเด็นรายละเอียดของหนังสือร้องเรียนมีเนื้อหา 4 ประเด็นหลักให้ตรวจสอบ คือ การจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ถูกระเบียบ ตามขั้นตอนพัสดุ โดยเฉพาะการจัดซื้อชุดตรวจเอทีเค โดยไม่มีเรื่องเสนอซื้อ ไม่มีการออกใบสั่งของของ รพ. ไม่มีการสืบ และต่อรองราคา การจัดซื้อจะอ้างสถานการณ์ฉุกเฉินตามหนังสือฉบับ ว.115 ว่าสามารถซื้อของเฉพาะเจาะจงบริษัทได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ตามระเบียบการจัดซื้อจะต้องมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนจริงหรือไม่
“จากการตรวจสอบ พบว่า บริษัทที่ ผอ.จัดซื้อชุดตรวจเอทีเคนั้น เป็นบริษัทที่องค์การเภสัชไม่เห็นด้วย จนทางองค์การเภสัชดำเนินนการฟ้อง ปปช. ให้ตรวจสอบ และดำเนินคดีกับ นพ.เกรียงศักดิ์ นอกจากนี้ ในระยะนี้พบว่ามีการจัดซื้อเป็นจำนวนมาก ที่เป็นลักษณะของการสั่งการ มากกว่าการปฏิบัติตามกฎของราชการ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียหายกับทางราชการได้ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างที่ต้องใช้งบประมาณมาก ต้องผ่านคณะกรรมการตรวจสอบให้พิจารณาร่วมกัน ไม่ใช่ให้เกิดการสั่งการซื้อเพียงคนเดียว”แพทย์หญิงจรรยาภรณ์ กล่าว
ส่วนด้านการบริหารงานพบว่า ได้สั่งการให้ตรวจโควิด 19 โดยวิธีพีซีอาร์ 3,000 รายต่อวัน แต่ในความเป็นจริงนั้นเนี่ย ทำได้เหมือนกัน 600 รายต่อวันเท่านั้น แต่ ผอ.มีนโยบาย 3,000 คนต่อวัน ซึ่งต้องมีตัวเลขอ้างอิง ทางผู้ปฎิบัติได้ทำข้อมูลนำเสนอแล้ว การตัดสินใจของผู้อำนวยการ ให้ศึกษาข้อมูล รวมทั้งขอให้กรรมการ บุคลากรทางการแพทย์มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย
“บุคลากรทางการแพทย์ยืนยันว่า สามารถร่วมงานได้กับผู้อำนวยการทุกคน ขอให้ผู้บริหารมีธรรมาภิบาล แต่ละ 1 เดือนที่ผ่านมาเห็นว่าการบริหารงานได้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้เกิดขึ้น หลายเรื่องดำเนินการไม่ผ่านระบบขั้นตอน ทำให้กระทรวงสาธารณสุขตีกลับ สร้างความเสียหายให้กับโรงพยาบาล”แพทย์หญิงจรรยาภรณ์ กล่าว
ด้านนพ.ภาคี ทรัพย์พิพัฒน์ นายแพทย์ สสจ.ขอนแก่น กล่าวว่า หลังจากรับหนังสือร้องเรียนแล้ว จะได้ดำเนินการเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามา สอบถามรายละเอียด พร้อมทั้งให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย
#อีสานเดลี่ออนไลน์