พระ-เณร อุบาสก อุบาสิกา วัดประชานิยม เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วม กวนข้าวทิพย์ สืบสานประเพณีออกพรรษา ท่ามกลางบรรยากาศที่คึกคัก ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 20 ตุลาคม 2564 ที่วัดประชานิยม เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ พระ-เณร และอุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมกันนำไม้ฟืน และอุปกรณ์ สำหรับก่อไฟและปรุงข้าวมธุปายาส หรือกวนข้าวทิพย์ ซึ่งเป็นอีกกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกกิจกรรมหนึ่ง ในเทศกาลออกพรรษา โดยมีพุทธศาสนิกชน ศิษยานุศิษย์เจ้าคุณบัวศรี หรือพระเทพสารเมธี จากทั่วสารทิศ ทยอยเดินทางร่วมไม่ขาดสาย ทั้งนี้ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก และปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
นางกนกพร มณีสุวรรณ อายุ 59 ปี อยู่บ้านเลขที่ 31 หมู่ 6 บ้านต้อน ต.เหนือ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้ตนและอุบาสก อุบาสิกา ญาติโยม ศิษยานุศิษย์เจ้าคุณบัวศรี หรือพระเทพสารเมธี ได้นำอุปกรณ์ ปัจจัย เช่น ไม้ฟืน มะพร้าว น้ำตาล ถั่ว งา มารวบรวม เป็นวัตถุดิบในการปรุงข้าวมธุปายาส หรือกวนข้าวทิพย์ ในเทศกาลออกพรรษาที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (21 ต.ค.64) ทั้งนี้ บรรยากาศในการกวนข้าวทิพย์ในปีนี้ ค่อนข้างจะเงียบเหงาไปนิด เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ก็มีทยอยมาร่วมกิจกรรมไม่ขาดสาย
นางกนกพร กล่าวอีกว่า พระ-เณร ตลอดจนอุบาสก อุบาสิกา ทุกคน ภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา อย่างเช่นการได้มาร่วมกันกวนข้าวทิพย์ เพื่อสืบทอดประเพณีทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย โดยเฉพาะที่วัดประชานิยม ที่มีหลวงพ่อเจ้าคุณบัวศรีเป็นเจ้าอาวาส ที่เป็นการหลอมรวมความรักสมัครสมานสามัคคีของศิษยานุศิษย์ ได้มาร่วมกิจกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านเป็นผู้นำแนวทางให้ญาติโยม ยึดถือปฏิบัติสืบทอดมาอย่างเหนียวแน่น ตั้งแต่ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส พวกเราที่เป็นญาติธรรม เลื่อมใสศรัทธาในตัวท่าน จึงได้มาพร้อมใจกันสืบสานประเพณีกวนข้าวทิพย์ ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับประวัติประเพณีกวนข้าวทิพย์ ถือเป็นบุญใหญ่อีกบุญหนึ่งตามฮีต 12 คอง 14 เป็นพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์ที่ปะปนกับพิธีกรรมของศาสนาพุทธ โดยอ้างถึงเหตุการณ์ในสมัยพุทธกาลที่นางสุชาดาได้ปรุงข้าวมธุปายาสถวายพระโคตมพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้ ถือกันว่าข้าวมธุปายาสเป็นของทิพย์ เมื่อได้จัดทำขึ้นจึงเรียกว่าข้าวทิพย์ ในประเทศไทย ชาวบ้านจะทำในเทศกาลออกพรรษา ถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นการสักการบูชา ซึ่งถือเป็นสิริมงคลกับตนเอง การกวนข้าวทิพย์ต้องอาศัยความสามัคคีจากชาวบ้านจึงจะสำเร็จลงได้ การที่ทำในวันออกพรรษา เพื่อถวายเป็นเครื่องสักการบูชา และรับเสด็จพระพุทธองค์ที่เสด็จจากจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
โดยในแต่ละท้องที่ มีพิธีในการกวนข้าวทิพย์คล้ายคลึงกัน เริ่มแรกจะมีการจัดโต๊ะหมู่บูชา บริเวณที่จะกวนข้าวทิพย์ อาจจะทำเป็นปะรำพิธี โดยโยงด้านสายสิญจน์จากพระพุทธรูปมายังปะรำพิธี ซึ่งวงด้านสายสิญจน์เป็นสี่เหลี่ยม มุมทั้งสี่ตั้งฉัตร 7 ชั้น ขันหมากเบ็งเป็นเครื่องสักการบูชา วัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบปกติวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบสำคัญซึ่งใช้ในการกวนข้าวทิพย์ที่ชาวบ้านนำมารวมเตรียมไว้จะประกอบด้วยน้ำนมข้าว ถั่วทุกชนิด และพืชหรือผลผลิตจากพืชทุกชนิดที่ใช้ทำขนมได้ นำมากวนรวมกันเป็นข้าวทิพย์ กวนโดยพรหมจารี ระหว่างกวน พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเสร็จแล้ว นำไปถวายพระสงฆ์ และให้ประชาชนรับประทานข้าวทิพย์กัน