หนุ่มใหญ่วัย 51 ปี ชาวอำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ หันหลังให้กับวงการถ่ายแบบแฟชั่น และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่กรุงเทพมหานคร กลับบ้านเกิดผันตัวทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ แต่ไม่รุ่ง สุดท้ายหันมาเพาะเลี้ยงกระบองเพชรพันธุ์พื้นบ้าน เป็นแหล่งสร้างงาน ส่งขาย สร้างรายได้สู้ภัยโควิด-19
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพ ของประชาชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในรอบเกือบ 2 ปี พบว่ามีอาชีพที่หลากหลายผุดขึ้นมาในช่วงนี้ ล่าสุด พบหนุ่มใหญ่วัย 51 ปี ชาวอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ ทำการเพาะปลูกหน่อหรือเพาะเลี้ยงกระบองเพชรพันธุ์พื้นบ้าน บนที่ดินริมคลองฮีโร่ หรือคลองส่งน้ำชลประทานลำปาว บ้านทุ่งสว่าง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เพื่อส่งจำหน่ายทางออนไลน์ให้กับลูกค้า ซึ่งถือเป็นอาชีพใหม่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และสามารถสร้างงาน สร้างรายได้เป็นอย่างดี
สอบถามเจ้าของสวนเพาะเลี้ยงกระบองเพชร ทราบชื่อคือนายบัญชา ศิริกุล อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 288/90 ถ.ทุ่งศรีเมือง เขตเทศบาลเมือง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังนำคนงานในสวน 8 คน ปรับปรุงพื้นที่ภายในสวน และตัดแต่งกิ่งกระบองเพชร บนพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ หลังได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมา และเตรียมความพร้อมรอรับออร์เดอร์จากลูกค้า โดยเฉพาะต่างจังหวัด ซึ่งติดต่อซื้อขายทางออนไลน์
นายบัญชา ศิริกุล เจ้าของสวนเพาะเลี้ยงกระบองเพชร กล่าวว่า ก่อนที่จะมาเพาะเลี้ยงหรือปลูกกระบองเพชร ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นบ้าน เพื่อจำหน่ายกิ่งให้กับลูกค้านั้น เดิมตนเคยทำงานที่กรุงเทพฯหลายลักษณะงาน รวมระยะเวลาประมาณ 1 ปี เริ่มจากการเป็นช่างภาพประจำร้าน ช่างภาพงานแฟชั่น ถ่ายแบบให้กับนิตยสาร และงานอีเว้นท์ต่างๆ ก่อนจะมีเงินทุนตั้งตัว และร่วมกับเพื่อนๆในวงการ คนรู้จัก ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่จะถึงจุดอิ่มตัว อยากกลับบ้านเกิด จึงนำเงินทุนที่ได้จากการทำงานดังกล่าว ซื้อที่ดินประมาณ 40 ไร่ในเขต อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เพื่อทำการเกษตร
นายบัญชา กล่าวอีกว่า งานเกษตรที่ทำครั้งแรกคือปลูกมันสำปะหลัง ต่อมาปลูกข้าวโพด ปลูกมันเทศ เลี้ยงแพะ ซึ่งทุกอาชีพที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ สุดท้ายไปเลี้ยงปลานิลในกระชัง ที่ อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ก็ไม่รุ่งอีก คิดว่าคงจะไม่ใช่แนวทางของตน เพียงแต่อยากหาประสบการณ์ใหม่ๆ หรือลองทำอาชีพที่ชาวบ้านเขาทำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ตนไม่เคยทำมาก่อน จึงเป็นการลองผิดลองถูก เพราะแค่อยากทำ แต่ยังขาดองค์ความรู้ จึงไม่ประสบความสำเร็จดังกล่าว
นายบัญชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนที่ต่อมาจะเกิดไอเดียเพาะเลี้ยงหน่อกระบองเพชรและมาถึงวันนี้ได้นั้น ได้เข้าไปเห็นกลุ่มเพาะเลี้ยงกระบองเพชรในสื่อออนไลน์ ซึ่งมีการโพสต์และแชร์กันอย่างแพร่หลาย ทำให้ได้ความรู้ใหม่ว่ากระบองเพชรถือเป็นประเภทไม้สวน ไม้ประดับ มีหลายสายพันธุ์ ลักษณะสวยงาม แตกต่างกันออกไป ในกลุ่มที่นิยมกระบองเพชรหรือที่เรียกว่าตลาดบน ราคาค่อนข้างแพง จากการศึกษาวงการกระบองเพชรดังกล่าว พบว่ายังมีปัญหาในการเพาะเลี้ยงหน่อพันธุ์ ซึ่งต้นกระบองเพชรจะมีอายุยืนยาว ให้เจ้าของชื่นชมความงามไปนานปีนั้น จะต้องได้หน่อพันธุ์ที่มีคุณภาพ ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถนำกิ่งหรือหน่อกระบองเพชรสายพันธุ์ต่างๆมาต่อกิ่ง และเจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“สำหรับกระบองเพชรพันธุ์พื้นบ้านเรานั้น ได้รับการยอมรับจากวงการกระบองเพชรว่าคุณภาพดี แต่การที่จะเพาะเลี้ยงหน่อพันธุ์ต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างกว้างขวาง ขณะที่ตลาดหลักในจังหวัดใหญ่ ที่มีกลุ่มคนนิยมเลี้ยงกระบองเพชร เช่น กรุงเทพฯ นครราชสีมา หรือเชียงใหม่ พื้นที่มีจำกัด กรณีดังกล่าว ตนจึงเกิดไอเดียที่จะเพาะเลี้ยงหน่อกระบองเพชร เริ่มจากนำกิ่งกระบองเพชรที่มีอยู่ในพื้นที่ มาทดลองเพาะที่หน้าบ้าน ทีแรกทำ 3-4 แปลง เกิดการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงติดต่อหาตลาดรองรับ พบมีความต้องการสูง จึงขยายพื้นที่เพาะเลี้ยง ทำการปลูกและรับคนงานเข้ามา ทั้งนี้ เพิ่งจะลงมือดำเนินการได้ประมาณ 1 ปีเท่านั้นเอง ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้า โดยจำหน่ายกิ่งกระบองเพชรเพียงกิ่งละ 5-10 บาทเท่านั้น แต่ก็มีออร์เดอร์เข้ามาเป็นระยะ ถือเป็นอาชีพทางเลือกใหม่ ที่น่าจะมีอนาคต” นายบัญชากล่าว
นายบัญชากล่าวในตอนท้ายว่า อาชีพเพาะเลี้ยงหน่อหรือกิ่งกระบองเพชรพันธุ์พื้นบ้านที่ตนลงมือทำ ถือว่ามาถูกที่ ถูกเวลา สามารถช่วยเหลือญาติพี่น้อง ที่ว่างงานในช่วงนี้ให้มีงานทำ สำหรับตน ไม่หวังอะไรมาก ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะกระทบ ส่งผลให้ยอดจำหน่ายลดลงบ้าง แต่ก็ไม่ซีเรียส คือขอเพียงให้มีงานทำ พอมีรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวให้อยู่รอด ทุกวันมาดูกิจกรรมในสวน ดูแลคนงานบริหารจัดการในสวน ก็ช่วยผ่อนคลายความเครียดได้ดีอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้คาดหวังว่าหากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ยอดจำหน่ายกิ่งกระบองเพชรก็คงจะสูงขึ้น
#อีสานเดลี่ออนไลน์