ขอนแก่น-ชป.6 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก 8 -11 ก.ย. นี้

สำนักงานชลประทานที่ 6 เตรียมรับมือสถานการณ์น้ำ จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทย ในช่วง 8-11 กันยายน 2564 นี้ สั่งการให้ทุกโครงการชลประทานติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชม. เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อช่วยเหลือประชาชนหากเกิดอุทกภัยในพื้นที่

นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยว่า ตามที่กรมชลประทานได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่งเฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 9/2564 เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และอ่างเก็บน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 8 – 11 กันยายน 2564 นี้ และกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศ ฉบับที่ 1 (125/2564) เรื่องพายุโซนร้อน “โกนเซิน” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ในขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย แต่ก็ให้เฝ้าระวังอิทธิพลพายุโซนร้อนโกนเซิน นั้น

สถาการณ์น้ำภาพรวมในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัด อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง ความจุรวม 4,575 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 1,486 ล้าน ลบ.ม. (32%) สามารถรับน้ำได้อีก 3,089 ล้าน ลบ.ม. (68%) อ่างฯขนาดกลาง 69 แห่ง ความจุรวม 440 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 207 ล้าน ลบ.ม. (47%) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 233 ล้าน ลบ.ม. (53%) อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 1,037 แห่ง ความจุรวม 308 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกัก 135 ล้าน ลบ.ม. (44%) ยังสามารถรับน้ำได้อีก 173 ล้าน ลบ.ม. (56%) รวมพื้นที่ว่างที่ยังสามารถรับน้ำได้อีก 3,496 ล้านลบ.ม. (66%) แม่น้ำชีตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ยังอยู่ใสถานการณ์ปกติ

สำหรับการเตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์น้ำ สำนักงานชลประทานที่ 6 ได้ดำเนินการตามมาตรการของกรมชลประทาน ด้วยการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและติดตั้งธงสัญลักษณ์แจ้งเตือนระดับน้ำ ครอบคลุมลำน้ำสำคัญ ทั้ง 5 จังหวัด กำหนดจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำและขนย้ายเข้าไปติดตั้งไว้ในพื้นที่เสี่ยงพร้อมทดลองเดินเครื่อง เพื่อให้สามารถสูบน้ำช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดน้ำท่วม รวมถึงได้ตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานทุกแห่งให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำแบบพลวัต (Dynamic Rule curve) สำหรับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมากได้สั่งการให้พร่องน้ำโดยไม่ให้มีผลกระทบกับพื้นที่ท้ายอ่าง พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ แจ้งเตือนประชนและทุกภาคส่วนก่อนมีการพร่องระบายน้ำลงท้ายอ่างฯ ที่สำคัญได้นำเทคโนโลยีระบบการแจ้งเตือนภัยสถานการณ์น้ำ โดยเครือข่ายของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) ของสำนักงานชลประทานที่ 6 ทั้ง 5 จังหวัด มาใช้ในการบริหารจัดการน้ำ การประสานงาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือน และการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเต็มศักยภาพ

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้ทุกโครงการชลประทานในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด ประจำอยู่ในพื้นที่และมอบหมายเจ้าหน้าที่ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม. พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำล่วงหน้า ให้ประชาชน ได้รับทราบอย่างทั่วถึง หากประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา


ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสารสนเทศ
สำนักงาน​ชลประทาน​ที่​ 6
กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
9 กันยายน 2564

ในประเทศ

Related posts

404 Not Found
404
Sorry, the page you visited does not exist.
It may be that the access link is wrong or the file does not exist.