ธรรมชาติส่งคืนจากป่าชุมชนสู่แหล่งอาหารตามฤดูกาล และสร้างรายได้ชาวบ้านด่านศรีสุขเข้าป่าหาเก็บเห็ดมาเลี้ยงชีพและขายสร้างรายได้ช่วงฤดูฝน
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 ที่บริเวณป่าชุมชนบ้านดอนขนุน หมู่ที่ 5 ต.ด่านศรีสุข อ.โพธิ์ตาก จ.หนองคาย ได้มีชาวบ้านในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียง เข้าป่าเพื่อหาเก็บ “เห็ดระโงกขาว เห็ดระโงกเหลือง” ซึ่งเป็นอาหารชั้นยอดของคนอีสาน หนึ่งปีมีครั้งเดียวของดีในป่าป่าชุมชนกว่า 500 ไร่ จากการที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ป่ามีความชื้นส่งผลให้เห็ดผุดขึ้นจากดินจำนวนมาก คนในพื้นที่เรียกว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตป่าชุมชน” เนื่องจากในผืนป่าจะมีอาหารทุกชนิดเกิดขึ้นตามฤดูกาล เช่น หน้าฝนมีเห็ดป่า หวายป่า กระชายขาวป่า หน่อไม้ป่า ดอกกระเจียวป่า ส่วนหน้าแล้งก็จะมีไข่มดแดง พืชผักต่าง ๆ ชาวบ้านต่างออกไปหาเก็บเพื่อนำมาประกอบอาหาร และขายสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว
เห็ดระโงก ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานกัน เมื่อโตเต็มที่จะมีลักษณะของดอกแผ่บานขาว ส่วนที่ยังไม่โตเต็มไว ก็จะลักษณะอวบ ดอกสีเหลืองบ้าง สีขาวบ้าง สูงจากดิน 2-4 ซม. เกิดซ่อนอยู่ตามโคนต้นไม้ที่มีใบไม้ปกคลุม ชาวบ้านจะใช้เสียมหรือไม้เขี่ยหาตามกองเศษใบไม้ หรือกอหญ้าที่เปียกชื้น เก็บได้ก็นำไปปรุงเมนูอาหารรสแซบ ที่เหลือก็จำนำไปขายในราคา กิโลกรัมละ 250 บาท สามารถสร้างรายได้วันละ 500-600 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ถือเป็นการสร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านในช่วงฤดูแบบนี้ได้เป็นอย่างดี
นี้คือประโยชน์จากป่าชุมชนบังเกิดความยั่งยืน คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งประโยชน์จากป่าชุมชน คือทางด้านสิ่งแวดล้อม แก้ไขหรือบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น ได้แก่ การเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารอันส่งผลต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร การอุปโภค และการบริโภคในครัวเรือน การเป็นแหล่งป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านไฟป่าที่คุกคามสุขภาพและทรัพยากรของชุมชน ช่วยบรรเทาการกัดเซาะและพังทลายของหน้าดินโดยเฉพาะในบริเวณที่เป็นภูเขา การอนุรักษ์และคุ้มครองสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพให้มีความอุดมสมบูรณ์ ประโยชน์ทางด้านสังคม คือการสร้างความร่วมมือกันดำเนินกิจกรรมจัดการป่าไม้เพื่อส่วนรวม ส่งผลต่อความรักสามัคคีที่ใช้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ประชาชนสามารถเก็บหาของป่าและสมุนไพรให้เพื่อการบริโภคและอุปโภคในครัวเรือน ซึ่งเป็นการลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง ป่าชุมชนได้เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ชุมชน ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ของชุมชนต่อไป:ฤาษีลภ-อภิชาต//จ.หนองคาย