วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่บริเวณบ้านนาราชควาย หมู่ที่ 11 อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นำคณะประชาชนจิตอาสาร่วมทำกิจกรรม จิตอาสาพัฒนาชุมชนเฉลิมพระเกียรติ ต้านภัยโควิด – 19 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ด้วยการร่วมกันปลูกพืชสมุนไพรและไม้ยืนต้นบริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์โดยรอบห้วยคำหมากแปป
นายอดิศักดิ์ โพนชัยยา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 เปิดเผยว่า ห้วยหมากแปปเป็นแหล่งน้ำของชุมชนที่ใช้ในการอุปโภคและการเกษตรอยู่ติดกับที่สาธารณประโยชน์ของบ้านนาราชควาย หมู่ที่ 11 มีเนื้อที่รวมกันประมาณ 10 ไร่ ซึ่งก่อนหน้านี้ห้วยมีความตื้นเขินตามกาลเวลาและทางอำเภอเมืองนครพนมได้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชน จึงได้มีการจัดสรรงบประมาณมาขุดลอกให้ห้วยกลับมากักเก็บน้ำได้อีกครั้ง โดยดินที่ขุดขึ้นมาก็ได้นำมาปรับพื้นที่สาธารณประโยชน์ที่เดิมเป็นหลุมเป็นบ่อให้เท่ากัน ทำให้ทุกเห็นว่าพื้นที่ตรงนี้น่าจะสร้างประโยชน์สำหรับชุมชนได้มากกว่าการปล่อยทิ้งร้างไว้ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ วางแผนเพื่อพัฒนาและนำมาสู่กิจกรรมในครั้งนี้ โดยพื้นที่สาธารณประโยชน์ส่วนหนึ่งมีการปลูกไม้ยืนต้นที่ในอนาคตจะกลายเป็นผืนป่าที่ให้ทั้งความชุ่มชื้นและร่มเงาสำหรับคนชุมชน ซึ่งการปลูกก็ได้ออกแบบให้มีลักษณะเป็นเลข 89 ที่เท่ากับพระชนมายุของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในปีนี้ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติของพระองค์ท่าน โดยพันธุ์ไม้แต่ละชนิดได้รับการสนับสนุนจากสถานีเพาะชำกล้าไม้จังหวัดนครพนม ขณะที่อีกด้านของพื้นที่จะสร้างให้เป็นศูนย์สมุนไพรที่พร้อมให้ทุกคนได้เข้ามาศึกษาและเรียนรู้ โดยแปลงสมุนไพรที่ว่าได้ร่วมกันออกแบบให้เป็นเลข 10 ที่หมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมีกรอบสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ที่หมายถึงประชาชนในชุมชนทั้ง 4 ทิศ ที่พร้อมน้อมนำแนวพระราชดำริของพระองค์ท่านมาสืบสาน รักษาและต่อยอดเพื่อให้เกิดความยั่งยืนของคนในชุมชนและทำให้พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มีองค์ความรู้สำหรับทุกคนที่สนใจในเรื่องของสมุนไพรพื้นบ้าน โดยเฉพาะช่วงนี้ที่กำลังเป็นที่กระแสนิยมของผู้ป่วยโควิด ไม่ว่าจะเป็น ฟ้าทลายโจร ขิง ข่า ตระไคร้ ขมิ้นชัน กระชายขาว หอมแดง กระเทียมและพืชชนิดอื่น ๆ อีก ซึ่งในส่วนนี้ประชาชนในชุมชนแต่ละคนจะเลือกเอาสมุนไพรที่มีอยู่ในบ้านของตนเอง หรือสมุนไพรหายากที่อยากจะอนุรักษ์เอาไว้ มาร่วมกันปลูกไปพร้อมๆ กับการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน โดยแต่ละวันหลังจากนี้ จะมีตัวแทนคุ้มของคนในหมู่บ้านผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมารดน้ำ ดูแลพืชสมุนไพรและต้นไม้เหล่านี้ให้เจริญงอกงาม