เทศบาลตำบลกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เดินหน้าโครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย เผยในอนาคตจะไม่มีบ่อขยะเดิมที่ “หลักเมือง” อีกแล้ว เพราะขยะในบ่อเดิมจะถูกนำออกและเข้าสู่ระบบทำลายจนหมด และพัฒนาเป็นลานสุขภาพ สนามกีฬาในร่มและสาธารณะประโยชน์อื่นๆ โดยยึดประชาชนและชุมชนเป็นศูนย์กลาง
วันที่ 6 สิงหาคม 2564 นางสาววิจิตรา ภูโคก นายกเทศมนตรีตำบลกมลาไสย อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวถึงความคืบหน้าของการดำเนินโครงการสร้างระบบการจัดการขยะเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง (RDF) และผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะมูลฝอย ของ ทต.กมลาไสยว่า เนื่องจากปัญหาขยะถือเป็นวาระแห่งชาติ ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งส่งผลกระทบกับประชาชนจากปริมาณขยะในบ่อขยะมีเพิ่มขึ้นทุกวัน จึงได้เร่งรัดให้มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษา สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อม ดำเนินการจัดทำข้อกำหนดขอบเขตงานหรือ TOR เพื่อให้มีการประมูลหาเอกชนมาดำเนินการ เนื่องจากโครงการมีการลงทุนสูงมาก โดยให้แนวทางในการจัดทำ TOR ว่า ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชุมชนและประชาชนเป็นหลัก และต้องแก้ปัญหาขยะอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่าง TOR จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนจากเทศบาลตำบลโนนบุรี และเทศบาลเมืองบัวขาว ที่จะร่วมเป็นศูนย์กำจัดขยะในโครงการนี้ รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ตัวแทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติเละสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ตัวแทนจากสาธารณสุข อ.กมลาไสย และตัวแทนภาคประชาชนมาร่วมร่าง TOR ฉบับนี้ โดยขอให้เรื่องเร่งด่วนที่กำหนดไว้ใน TOR คือการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่รอบบ่อขยะ ต้องได้รับการดูแลเยียวยาทันทีที่เริ่มโครงการ ต้องไม่มีบ่อขยะเหลืออยู่อีก เอกชนที่เข้ามาดำเนินโครงการต้องนำขยะทั้งหมดที่มีอยู่ที่บ่อขยะทั้งบนดินและใต้ดินของทุกบ่อขยะ ทั้งที่ ทต.หลักเมือง ทต.โนนบุรี และ ทม.บัวขาว ออกให้หมด และจะทำการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่บ่อขยะให้เป็นที่ๆประชาชนได้ใช้ประโยชน์ได้ เช่น ทำเป็นสวนสาธารณะ เป็นศูนย์กีฬาในร่ม โดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด
“นอกจากนี้ใน TOR ยังกำหนดให้เอกชนต้องมีกองทุนเพื่อดูแลสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโครงการ โดยมีคณะกรรมการภาคประชาชนเป็นผู้ดูแลกองทุนนี้ มีการตรวจวัดมลภาวะที่เกิดขึ้นทุกๆ 3 นาที 5 นาที แจ้งให้ประชาชนทราบผ่านจอแสดงผลที่ติดอยู่ทุกหมู่บ้านรอบๆที่ตั้งโครงการ มีการทำประกันภัยให้กับประชาชนรอบบ่อขยะ ถ้าเกิดผลกระทบจากการดำเนินการของเอกชน เอกชนต้องแปลงขยะเป็น RDF ที่แห้งกว่าขยะสดก่อนการขนย้าย และห้ามไม่ให้รถขนถ่าย RDF วิ่งผ่านที่ชุมชนหนาแน่น เอกชนต้องแบ่งรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าโดยไม่หักค่าใช้จ่ายให้กับเทศบาล นำไปใช้ในการพัฒนาชุมชน และยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากใน TOR ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน” นางสาววิจิตรากล่าว
ด้านนายวุฒิชัย สรรพลุน รองนายก ทต.กมลาไสย กล่าวว่า ข้อกำหนดใน TOR ยังให้เอกชนพัฒนาการจัดเก็บขยะมูลฝอยให้กับเทศบาล รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของเทศบาลในการเก็บรวบรวม และกำจัดขยะมูลฝอยอย่างมีประสิทธิภาพด้วย ตนเชื่อว่า เมื่อโครงการได้เริ่มดำเนินการ ปัญหาขยะมูลฝอยของ จ.กาฬสินธุ์ จะลดลงอย่างมาก และมั่นใจว่าโครงการนี้จะแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของ จ.กาฬสินธุ์ได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่นายจรัส นาชัยเริ่ม อายุ 83 ปี ชาวบ้านเมืองใหม่ เขต ทต.กมลาไสย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างโรงงานขยะ เนื่องจากที่ผ่านมาขยะทำให้เกิดปัญหาต่อมลพิษ และเป็นบ่อเกิดของโรคภัยหลายชนิด ปัญหาที่พบในการจัดการขยะมูลฝอยในภาพรวมทั่วไป คือการเก็บรวบรวมที่ไม่เป็นระเบียบ มีกลิ่นเหม็น บางครั้งมีขยะตกหล่น มีน้ำเสียจากรถขนขยะ และปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การที่จะมีโครงการดังกล่าว ที่จะเป็นการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี และมีการแปรสภาพขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน นอกจากนี้ยังจะเกิดการสร้างงาน ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนและเพื่อนบ้านได้ร่วมประชาคม และเห็นชอบในโครงการดังกล่าว และยังเคยไปดูงานหลายแห่ง เห็นผลดีของโรงงานขยะ จึงอยากจะเห็นโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นในชุมชนของตน เพราะขยะถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกคน ทุกฝ่าย ควรที่จะมาร่วมสนับสนุน เพราะจะเป็นประโยชน์กับประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง