เมื่อเวลา14.00น.วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี นายอุเทน หาแก้ว รองนายแพทย์สาธารณสุข (สสจ.) อุดรธานี และ พ.ญ.พัชริดา กลิ่นพะยอม อายุรแพทย์ รพ.ศูนย์อุดรธานี ร่วมแถลงสถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่อุดรธานี ค้นพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยสูงสุด 191 ราย เป็นผู้เดินทางจากกรุงเทพฯปริมณฑล 136 ราย โดยตรวจยืนยันมาก่อน 16 ราย ตรวจพบจากผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่ 55 ราย สะสม 1,316 ราย หายกลับบ้าน 648 ราย รักษาอยู่ 654 ราย เสียชีวิต 1 ราย สะสม 14 ราย
โดยผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มอีก 1 ราย เป็นรายที่ 14 ของอุดรธานี เป็นหญิงอายุ 47 ปี ปฏิมากรหญิงชาว จ.ปทุมธานี มาปฏิบัติธรรมและสร้างพระพุทธรูป ณ สำนักสงฆ์แห่งหนึ่ง อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ทีมภาคสนาม รพ.ศูนย์อุดรธานี ได้เคลื่อนศพมาฌาปนกิจที่วัดโพธิสมภรณ์ (พระอารามหลวง) ทน.อุดรธานี โดยมีญาติและคนใกล้ชิดมาร่วมประกอบพิธีกระชับเรียบง่าย ระบุว่าเป็นผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ป่วยรายที่ 808 ระบุว่า 19 มิ.ย.64 พักอาศัยที่สำนักสงฆ์ฯ , 20 มิ.ย.64 เดินทางไปกรุงเทพฯ ด้วยรถตู้ส่วนตัว , 26 มิ.ย.64 เดินทางกลับมาอุดรธานีกับน้องชาย พักที่สำนักสงฆ์ฯ , 27 มิ.ย.64 ส่งน้องชายที่สนามบินอุดรธานี , 29 มิ.ย.64 เดินทางมาฉีดวัคซีนที่ จ.อุดรธานี ,1 ก.ค.64 เริ่มมีอาการไม่สบาย , 2 ก.ค.64 ไปที่คลินิก อ.บ้านผือ , 3 ก.ค.64 มีอาการหอบเหนื่อย เข้ารักษาตัวที่ รพ.บ้านผือ แพทย์สั่งตรวจหาเชื้อพบติด COVID-19 แพทย์ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ส่งตัวรักษาต่อที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เสียชีวิต 12 ก.ค.64
นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ. อุดรธานี กล่าวว่า ยังมีผู้เดินทางจาก กทม.-ปริมณฑล มายังอุดรธานีต่อเนื่อง จากมาตรการคัดกรอง-ตรวจหาเชื้อ-นำเข้ารักษา-นำไปกักตัว ตั้งแต่ 27 มิ.ย.-11 ก.ค.64 ค้นพบผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยแล้ว 456 ราย โดยเป็นการค้นพบสถานที่กักตัว 44 คน ทั้งหมดเข้ารับการรักษา ไม่แพร่เชื้อไปครอบครัวและผู้ใกล้ชิด โดยมีผู้เล็ดลอดการคัดกรอง ไปแพร่เชื้อในวงแคบ ๆ และเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ก่อนหน้านี้ คือ แคมป์นักกีฬาบาสเกตบอลเยาวชนอยู่ในการควบคุมเฝ้าระวัง และศูนย์พักพิงดูแลผู้สูงอายุ ตรวจพบติดเชื้อแล้ว 35 ราย และเร่งติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอยู่
“มีการติดเชื้อในศูนย์พักพิงฯมาพอสมควร มาตรวจพบเมื่อผู้สูงอายุป่วย ส่งมารักษาที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี เมื่อเสียชีวิตจึงรู้ติดเชื้อโควิด ซึ่งต่อมาก็เสียชีวิตอีก 1 ราย เมื่อลงสอบสวนควบคุมโรค พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากแยกเป็น กลุ่มผู้สูงอายุที่ส่วนใหญ่ติดเตียง 12 ราย , กลุ่มผู้ดูแล 15 ราย ติดเชื้อ 9 ราย และกลุ่มบริบาลจบใหม่ ทำงานพาร์ทไทม์ 23 ราย ติดเชื้อ 14 ราย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงสั่งให้กักตัวรอตรวจซ้ำ ซึ่งสองกลุ่มผู้ดูแล-นร.บริบาล มีการเดินทางเข้าออก น่าจะเป็นสาเหตุนำเชื้อเข้ามา จังหวัดมีคำสั่งเข้าควบคุมศูนย์พักพิงฯ อื่นแล้ว”
นายอุเทน หาแก้ว รอง สสจ. อุดรธานี กล่าวต่อว่า ผู้เสียชีวิตของอุดรธานีรายที่ 14 แม้จะเป็นผู้ที่ฉีดวัคซีนชิโนแวคครบ 2 เข็ม ยังต้องอาศัยระยะเวลาการสร้างภูมิคุ้มกัน หรือหากไม่ระวังตัวก็ติดเชื้อได้ เข็มแรก 8 มิ.ย.64 เข็มสอง 29 มิ.ย.64 ฉีดหลังกลับจากพื้นที่เสี่ยงสูง ผู้เสียชีวิตมีภาวะอ้วน ท้องเสียงก่อนรับการรักษา มาถึง รพ.อาการป่วยรุนแรงแล้ว ส่งจาก รพ.บ้านผือ มาที่ รพ.ศูนย์อุดรธานี มีภาวะเชื้อลงปอดรุนแรง ไตวาย เลือดเป็นกรด ความดันต่ำ รักษาต่อเนื่อง 8 วันเสียชีวิต
พ.ญ.พัชริดา กลิ่นพะยอม อายุรแพทย์ รพ.ศูนย์อุดรธานี กล่าวว่า รพ.ศูนย์อุดรธานีดุแลผู้ป่วยอยู่ 158 ราย ต้องให้ออกซิเจน 41 ราย เป็นระบบท่อช่วยหายใจ 10 ราย อาการรุนแรง 2 ราย , ระบบออกซิเจนแรงดันสูง 13 ราย และให้ออกซิเจนแรงดันต่ำ 18 ราย รพ.มีความพร้อมตรวจรักษา และเพิ่มศักยภาพรับผู้ป่วยเพิ่ม ห้อง-เตรียม-อุปกรณ์-บุคคลากร ขณะนี้เตียงผู้ป่วยอาการหนัก 32 เตียง ใช้งานอยู่ 10 เตียง ส่วน “ศูนย์แคร์” หรือ รพ.สนาม 382 เตียง วันนี้มีผู้ป่วยรอดูอาการและพักฟื้น 230 ราย ซึ่งจะมีการปรับแผนนำรับผู้ป่วยเพิ่ม 1.ผู้ป่วยเชื้อลงปอดที่อาการดีขึ้น และ 2.ผู้ป่วยแรกรับที่ยังไม่มีอาการ
นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการ จ.อุดรธานี กล่าวว่า คกก.โรคติดต่ออุดรธานี ได้เพิ่มมาตรการรับสถานการณ์ 1.ขยายเวลางดการเรียนการสอนแบบออนไซด์ไปถึงสิ้นเดือน , 2.งดกิจกรรรมรวมกลุ่มตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป , 3.งดกิจกรรมส่งเสริมการขายในห้างฯ และเข้มงวดกับการฝึกสอน-แข่งขัน-ซ้อมกีฬา และปิดศูนย์พักพิงดูแลผู้สูงอายุ ขณะยังคงคัดกรองผู้มาจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อไม่ใช้เชื้อเข้ามาในพื้นที่ และเห็นควรจะไปรับชาวอุดรธานี ที่ประสบปัญหาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลกลับบ้าน ที่เริ่มในสัปดาห์นี้ ผู้ต้องการกลับบ้านที่อุดรฯ ติดต่อประสานผู้รับผิดชอบ ทางโทรศัพท์ที่แจกจ่ายไปก่อนหน้านี้
“ตัวเลขผู้ติดเชื้อและป่วยโควิด ของอุดรธานีที่สูงขึ้น กว่า 80 % เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง ก็รับไปรักษาไม่แพร่เชื้อต่อ การติดเชื้อภายในมีไม่รุนแรง ขณะผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น มีความจำเป็นต้องให้เครื่องออกซิเจนแรงดันสูงเพิ่ม จากเดิมที่อยู่แล้ว 40 เครื่องไม่เพียงพอ คณะแพทย์-พยาบาล รพ.ศูนย์อุดรฯ ได้ระดมทุนจัดหามาเพิ่มเติมเครื่องละ 250,000 บาท ต้องขอบคุณข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ที่เสนอตัวแบ่งเงินเดือน และรายได้ มาสมทบทุนกันต่อเนื่อง จึงมีเป้าหมายจัดซื้อเพิ่มอีก 45 เครื่อง 10 ล้านบาท บางส่วนจะส่งไปยัง รพ.ชุมชนด้วย”