กาฬสินธุ์(ชมคลิป)เกษตรกรฝันสลายสัตว์น้ำตายช่วงโควิดผิดเงื่อนไขไม่ได้รับเงินเยียวยา

เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งก้ามกราม และเลี้ยงปลาจังหวัดกาฬสินธุ์หายใจโล่งหลังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาวเริ่มส่งน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ทำการเปลี่ยนถ่ายน้ำในบ่อ หลังปิดส่งน้ำมานานกว่า 1 เดือน  ด้านประมงจังหวัดแจงสัตว์น้ำที่ได้รับผลกระทบในช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยา เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขประสบภัยพิบัติ

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งก้ามกราม และเลี้ยงปลาสัตว์เศรษฐกิจของเกษตรกรชาว จ.กาฬสินธุ์ ในกลุ่มที่อาศัยน้ำจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวหรือเขื่อนลำปาว   พบว่า ต่างเริ่มผ่อนคลายความเครียดกันบ้างแล้ว เมื่อทางโครงการฯ ได้เริ่มส่งน้ำมาตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 264 ที่ผ่านมา หลังจากเผชิญกับปัญหากุ้งและปลาที่เลี้ยงไว้น็อคน้ำตายได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก  เนื่องจาก 3 สาเหตุหลักคือ อากาศวิปริตร้อนสลับกับฝนตก สัตว์เลี้ยงปรับตัวไม่ทัน,  ขาดแคลนน้ำสำหรับเปลี่ยนถ่ายทำให้น้ำเน่าเสีย และประชากรสัตว์เลี้ยงในบ่อหนาแน่น เกินไปเพราะร้านค้าและตลาดรับซื้อปิดช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19ต้องเลี้ยงนานมากขึ้น

ทั้งนี้หลังจากที่สัตว์น้ำประเภทกุ้งก้ามกรามและปลาตาย มีเกษตรกรหลายราย ได้เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และหามาตรการเยียวยา โดยหวังว่าจะได้รับเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือ ในลักษณะเดียวกับที่เคยประสบภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก หรือกรณีประสบภัยธรรมชาติหรือสาธารณภัยต่างๆ  เช่น ภัยแล้ง ข้าว พืชสวน พืชไร่ หรือเหตุวาตภัย อาคาร บ้านเรือนเสียหาย ซึ่งจะได้รับเงินเยียวยานั้น

โดยทางนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมง จ.กาฬสินธุ์ ได้ชี้แจงทำความเข้าใจว่า สำหรับความเสียหายของสัตว์น้ำประเภทกุ้งก้ามกรามและปลา ในช่วงที่ผ่านมานั้น จากการประเมินสถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะได้รับเงินเยียวยา เพราะว่าถือเป็นความเสียหายจากภัยพิบัติและเกษตรกร สามารถที่จะบริหารจัดการเตรียมความพร้อมรับมือ หรือแก้ไขปัญหาบรรเทาความเสียหายด้วยตนเองได้ เช่น จัดการเรื่องความหนาแน่นของประชากรสัตว์เลี้ยงในบ่อ บริหารเรื่องน้ำให้พอเพียง มีอุปกรณ์สำหรับตีน้ำ เพื่อสร้างออกซิเจนในบ่อ รวมถึงการลดอาหารในช่วงที่ไม่มีน้ำเปลี่ยนถ่าย เพื่อป้องกันน้ำเสีย เป็นต้น

นายวุฒิชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนเกษตรกรที่จะได้รับความช่วยเหลือ กรณีสัตว์น้ำตายหรือได้รับผลกระทบนั้น จะต้องลงทะเบียนเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำ ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องเป็นในลักษณะเสียหายในวงกว้าง และทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ โดยจะมีคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) เข้าทำการตรวจสอบและประเมินความเสียหาย เพื่อรับเงินช่วยเหลือจากทางราชการ เช่น กุ้งก้ามกรามไร่ละ 10,920 บาทต่อไร่ ไม่เกินรายละ 5 ไร่, ปลาที่เลี้ยงในบ่อดิน ไร่ละ 4,225 บาท รายละไม่เกิน 5 ไร่, ปลาที่เลี้ยงในกระชังหรือบ่อซีเมนต์ ตารางเมตรละ 315 บาท รายละไม่เกิน 80 ตารางเมตร  ดังนั้น ในกรณีที่สัตว์น้ำตายในช่วงเกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั้งอากาศวิปริต หรือร้านค้า และตลาดปิด จำหน่ายผลผลิตไม่ได้ จึงจะไม่ได้รับเงินเยียวยา เพราะทางจังหวัดไม่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติดังกล่าว