ตำรวจ สภ.ท่าพระ ทดสอบการใช้อาวุธปืนช็อตไฟฟ้า ให้เจ้าหน้าที่เข้าใจการทำงานและประสิทธิภาพก่อนใช้งานในการระงับเหตุคนคลุ้มคลั่ง เพื่อลดความสูญเสีย หลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจได้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการเข้าระงับเหตุบ่อยครั้ง
วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 พ.ต.อ.ประวิทย์ โทหา ผู้กำกับการ สภ.ท่าพระ จ.ขอนแก่น นำเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจ สภ.ท่าพระ ทำการทดสอบการใช้อาวุธปืนช็อตไฟฟ้า อาวุธประจำกายสายตรวจชนิดใหม่ นอกจากอาวุธประจำตัวแบบเดิม คือ อาวุธปืน และดิ้ว หรือกระบองสั้น และไม้ง่าม ที่ได้รับการจัดสรรจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาใช้ในการเข้าระงับเหตุในกรณีต่างๆ เพื่อลดความสูญเสีย
พ.ต.ท.สุรัตน์ วันทะมาตร รองผู้กำกับการสืบสวน สภ.ท่าพระ อธิบายถึงประสิทธิภาพการทำงานของปืนชนิดนี้ให้ฟังว่า ปืนช็อตไฟฟ้ารุ่นนี้มีระยะยิง 21 ฟุต หรือราว 7 เมตร เน้นเป้าลำตัว กระแสไฟฟ้าจากตัวแปลงในปืนจะผ่านสายไฟบางๆ ไปถึงเข็มลูกดอก ช็อตเป้าหมายได้ครั้งละ 5 วินาที ซึ่งจะทำให้หยุดยั้งเป้าหมายด้วยการทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง สมองไม่สามารถสั่งงานส่วนของร่างกายได้ โดยกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นบนปลายกระบอกกระปืนช็อตไฟฟ้าสามารถใช้ช็อตเป้าหมายในระยะประชิดตัวในยามฉุกเฉินได้ แต่หลักการทำงานและการใช้ปืนชนิดนี้คือ เข็มลูกดอก ที่จะนำกระแสไฟฟ้าเข้าไปช็อตเป้าหมายที่ถูกยิง สิ่งสำคัญที่ตำรวจจะต้องคำนึงก่อนการใช้งานคือ ห้ามยิงที่จุดสำคัญ ที่บริเวณศีรษะ หน้าอกใกล้หัวใจ อวัยวะเพศ ห้ามยิง เด็ก ผู้หญิง หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ และสุดท้ายคือ สถานที่ ต้องมีความเหมาะสม ห้ามยิงจากที่สูง เพราะจะทำให้ผู้ถูกยิงได้รับอันตรายรุนแรง
พ.ต.อ.ประวิทย์ โทหา ผู้กำกับการ สภ..ท่าพระ บอกว่า สำหรับปืนช็อตไฟฟ้ายุติความคลุ้มคลั่งของตำรวจไทย ถือเป็นประโยชน์ที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งซื้อ Taser Gun มาแจกจ่ายให้ตำรวจ 1,483 โรงพักทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในอาวุธประจำตัวของตำรวจที่ต้องออกปฏิบัติการสายตรวจ ซึ่งทำให้ตำรวจมีทางเลือกใช้อาวุธเพื่อหยุดยั้งคนร้ายโดยไม่ถึงแก่ชีวิต และก่อนจะนำอาวุธชนิดนี้ไปใช้ ตำรวจผู้ปฎิบัติงานจะต้องเกิดความเข้าใจถึงขั้นตอนการทำงาน ประสิทธิภาพ จึงต้องมีการซักซ้อมเสมือนจริง เมื่อถึงเวลาเกิดเหตุการณ์ใช้ปืนช็อตไฟฟ้าจะมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและผู้ที่ก่อเหตุ