เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น นายอาทร จันทร์พิลา ประชาสัมพันธ์จังหวัดขอนแก่น ดร.ไพฑูรย์ พรหมเทศ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลสิรินธร จังหวัดขอนแก่น นายวิทิต นามมูลน้อย นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดขอนแก่น พร้อมคณะได้ลงพื้นที่สร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์ และถอดบทเรียนการการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคโควิด-19 ในพื้นที่ ต.ท่ากระเสริม ตามกิจกรรมเวทีสัมมนาขับเคลื่อนเครือข่ายประชาสัมพันธ์เพื่อสุขภาพที่ดีของชุมชน โดยมี นางยุวะดี อดทน ผอ.รพ.สต.ท่ากระเสริม พร้อมเจ้าหน้าที่รพ.สต.ท่ากระเสริม ผู้นำชุมชนทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมกิจกรรม
การจัดเวทีสัมมนาในครั้งนี้ขึ้น เพื่อขับเคลื่อนงานด้านการประชาสัมพันธ์ สร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานกับเครือข่ายประชาสัมพันธ์ทุกระดับ ตลอดจนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารนโยบายภาครัฐและจังหวัดขอนแก่นที่ถูกต้อง ที่เชื่อถือได้ไปสู่ประชาชนให้ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นี้ พื้นที่ ต.ท่ากระเสริม อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ถือเป็นพื้นที่ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินการรณรงค์ เฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ได้อย่างเข้มแข็ง มีการสร้างความร่วมมือ แบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานและความเชื่อมโยงประสานงานกันเป็นอย่างดี ในการติดตาม เฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องไปสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นางยุวะดี อดทน ผอ.รพ.สต.ท่ากระเสริม กล่าวว่า จากภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และกระจายลงสู่ระดับชุมชน “หมออนามัย” ซึ่งทำงานเป็นด่านหน้า คู่กับ อสม. ในการป้องกันโรคโควิด-19 คงไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ จึงต้องมีการร่วมมือทำงานแบบบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นในพื้นที่ เช่น ผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. โดยกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีบทบาทหน้าที่รับรายงาน คัดกรอง ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ หรือพื้นที่เสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ จัดระบบการกักตัว 14 วัน กรณีไม่ปฏิบัติตามสามารถใช้กฎหมายและรายงานให้ทางอำเภอได้ตามลำดับ และมีการตั้งด่านเวรยาม เพื่อคัดกรองโรคโควิด-19 ผู้ที่เดินทางเข้าออกในชุมชน ด้าน อบต.มีหน้าที่จัดหางบประมาณ ซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันโรคที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลล้างมือแอลกอฮอล์ แจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ ส่วนหมออนามัย และ อสม. มีหน้าที่ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์การดูแลด้านสุขภาพ ทางหอกระจายข่าว รถ EMS รถ 3 ล้อเคลื่อนที่รอบหมู่บ้าน และในช่องทางต่างๆ เช่น YouTube, Facebook , LINE ของกลุ่มต่างๆ
“มีการจัดจุดบริการล้างมือที่บ้าน อสม. บ้านผู้นำ ร้านค้า และสุขศาลา เพื่อเป็นแบบอย่างดี ออกเยี่ยมให้กำลังใจผู้กักตัว 14 วัน คณะทำงานทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้อย่างชัดเจน ทีมทำงานจึงได้รับการขนานนามว่า “นักรบชุมชน” ด่านหน้าในการป้องกันโควิด-19 ได้รับแรงใจ แรงศรัทธา จากผู้มีจิตศรัทธา ทั้งในและนอกชุมชน ได้มอบอุปกรณ์ในการป้องกันโควิด-19 ไว้ใช้ในสถานบริการและนักรบชุมชนได้แจกจ่ายแบ่งปันให้ทางโรงเรียน วัด และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เพื่อใช้ป้องกันตนเอง และทำให้พื้นที่ของเราไม่มีผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งนี้ มาจากการนำนโยบายและมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ปฏิบัติในพื้นที่อย่างเข้มข้น ลงสู่ชุมชนอย่างจริงจัง ทำให้พี่น้องประชาชนอยู่รอดปลอดภัยดังกล่าว สร้างความภาคภูมิใจของคนทำงานทุกคนทุกภาคส่วนด้วย” ผอ.รพ.สต.ท่ากระเสริม กล่าวในตอนท้าย
ไพฑูรย์ พรหมเทศ ทีมข่าวอีสานเดลีออนไลน์ จ.ขอนแก่น