เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์นำสื่อมวลชนทัวร์เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชน แนะปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และส่งเสริมให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตทางตลาดออนไลน์มากขึ้นในภาวะวิกฤติโควิด 19
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหัวกลุ่มยุทธศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาเกษตร เจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรอำเภอห้วยเม็ก เกษตรกรอำเภอหนองกุงศรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเกษตรตำบลนำสื่อมวลชน จ.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่อำเภอห้วยเม็ก และหนองกุงศรี เยี่ยมชมกิจกรรมการแปรรูปถั่วตัดและการดำเนินการด้านการตลาดของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านน้อยนางนวล หมู่ที่ 1 ต.บึงนาเรียง อ.ห้วยเม็ก เยี่ยมชมกิจกรรมแปลงเกษตรผสมผสานการผลิตอินทผลัมพันธุ์ดี สวนอินทผลัมบ้านสวนแสงเดือน บ้านคำใหญ่ ต.คำใหญ่ อ.ห้วยเม็ก เนื้อที่ 170 ไร่ ซึ่งเกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกอ้อยโรงงานมาปลูกอินทผลัม ปัจจุบันสามารถเก็บผลผลิตได้แล้วกว่า 50 ไร่ผลผลิตประมาณ 10 ตัน ราคาจำหน่ายหน้าสวน กิโลกรัมละ 300- 400 บาท
จากนั้นได้เยี่ยมชมกิจกรรมการผลิตอินทผลัมและโกโก้พันธุ์ดี สวนอินทผลัมโกโก้ กิติ์ศิรินทร์ กาฬสินธุ์ บ้านทรายงาม ต.ทรายทอง อ.ห้วยเม็ก ซึ่งแปลงนี้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังและอ้อยมาปลูกอินทผลัมและโกโก้พันธุ์ดีเพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว นอกจากนี้ยังเยี่ยมชมแปลงเกษตรผสมผสานไร่สมบูรณ์ทรัพย์สมาชิกกลุ่มแปลงใหญ่ บ้านนาคำน้อย ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลาบ้านทับปลา ต.หนองสรวง อ.หนองกุงศรี พร้อมแนะเกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และส่งเสริมให้เกษตรกรจำหน่ายผลผลิตทางตลาดออนไลน์มากขึ้น สู้วิกฤติโควิด 19 โดยมีเกษตรกรอำเภอห้วยเม็ก เกษตรกรอำเภอหนองกุงศรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเกษตรตำบล
นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรได้รับผลกระทบตั้งแต่การผลิต จนถึงการตลาด ส่งผลต่อรายได้และการประกอบอาชีพ ซึ่งการที่สำนักงานเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ และสื่อมวลชนลงพื้นที่ครั้งนี้ สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร โดยปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต การบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค เพื่อยกระดับเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกษตรกรเกิดรายได้ที่ยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปแบบแปลงใหญ่ และพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาตลาดเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยยึดหลักตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตทางตลาดออนไลน์ให้มากขึ้น