ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะเดินสายอบรมพัฒนาศักยภาพ พร้อมมอบเสื้อสามารถและเครื่องวัดอุณหภูมิให้กำลังใจอสม.ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าในการเฝ้าระวังรับรายตัวของประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19ในพื้นยังพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องล่าสุดมีผู้ติดเชื้อเดินทางมาจากกทม.และปริมณฑลอีก 13 ราย
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านเหล่าหลวง ต.ภูดิน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายณัฐวัชต์ พิมพะนิตย์ สจ.อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ เขต 4 และรองประธานสภาอบจ.กาฬสินธุ์ นายกีรฒิการย์ พิมพะนิตย์ เลขานุการนายกอบจ.กาฬสินธุ์ พร้อมคณะจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพ และรณรงค์ อสม.เข้ารับการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ป้องกันโควิด-19 พร้อมมอบเสื้อสามารถสู้โควิด-19 จำนวน 100 ตัวเพื่อให้กำลังใจแก่ อสม.ที่ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าอีกด้วย จากนั้นได้นำเครื่องวัดอุณหภูมิไปมอบให้กับอสม.ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองโพน ต.ไผ่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ เพื่อใช้ในการออกปฏิบัติหน้าที่ 4 ทหารเสือด่านหน้า โดยเฉพาะการเฝ้าระวัง รับรายงานตัว และออกเคาะประตูบ้านให้ความรู้และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่เดินทางมาจากพื้นที่ 10 จังหวัดจำนวนมากในช่วงนี้
นายวิรัช พิมพะนิตย์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งหลายพื้นที่พบมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งรายบุคคล และกลุ่มก้อน ทุกคนต้องร่วมกันเฝ้าระวังและป้องกันให้ตนเองและบุคคลในชุมชน โดยเฉพาะ อสม. ซึ่งเป็นบุคลากรด่านหน้า 1 ใน 4 ทีมทหารเสือ ที่ต้องสัมผัสใกล้ชิดและทำงานหนัก เนื่องจากต้องคอยติดตาม กำกับดูแลชาวบ้านในพื้นที่ ตรวจคัดกรอง และเคาะประตูบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนแรงงานที่เดินทางมาจากพื้นที่ 10 จังหวัดจำนวนมากในช่วงนี้ ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มศักยภาพ ทั้งองค์ความรู้และทักษะใหม่ๆ ให้มีความรู้เท่าทันกับสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน ซึ่งการมอบเสื้อสามารถและเครื่องวัดอุณหภูมิก็เป็นการให้กำลังผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้วย
ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ยังคงพบผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง โดยศูนย์อำนวยการต้านโรคติดชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จ.กาฬสินธุ์ รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ล่าสุดวันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอีก 13 ราย ทั้งหมดเป็นกลุ่มแรงงาน อาชีพค้าขาย และพนักงานธนาคารที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล ส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 237 ราย รักษาหายป่วยแล้วรวม 145 ราย กำลังรักษาอยู่ 88 ราย และยอดผู้เสียชีวิตสะสมยังอยู่ที่ 4 ราย