เมื่อเร็วๆนี้ ที่กลุ่มทอผ้า บ้านกระมัลพัฒนา หมู่ที่ 6 ต.โพธิ์วงศ์ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานการตรวจติดตามการขับเคลื่อนวาระจังหวัดศรีสะเกษ ผ้าทอมือ “ธานีผ้าศรี…แส่ว” เพื่อติดตามความก้าวหน้าของผลการดำเนินงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอผ้าไหมและแปรรูป กลุ่มผ้าไหมทอผ้าพื้นบ้านกี่กระตุก เพื่อส่งเสริม ต่อยอดและพัฒนาศักยภาพด้านการทอผ้า ด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น การแส่ว และยกระดับการบริหารจัดการ เริ่มตั้งแต่การสาวไหม การย้อมผ้า ทอผ้า แส่วเสื้อ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และสินค้าโอทอป ของกลุ่มต่างๆ โดยมี นายจรินทร์ รอบการ พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วย นายคมป์ สังข์วงษ์ นายอำเภอขุนหาญ หัวหน้าส่วนราชการ และกลุ่มทอผ้าบ้านกระมัลพัฒนา และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
นายวัฒนา กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดแบบบูรณาการ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จังหวัดศรีสะเกษ จึงได้ประกาศวาระจังหวัดศรีสะเกษ วาระ 1+10 โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ “ธานีผ้าศรี…แส่ว” เพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด สินค้าภูมิปัญญาของชาวจังหวัดศรีสะเกษ ให้เป็นที่ต้องการของตลาด มีรูปแบบสีสันที่ทันสมัยสามารถแข่งขันได้ และเป็นการส่งเสริมให้คนในชุมชนมีรายได้ ที่มั่นคง ยังยืน สามารถพึ่งตนเองได้ และเป็นการพัฒนารูปแบบ ส่งเสริม การยกระดับผ้าอัตลักษณ์ มีลวดลายทันสมัย เพิ่มมูลค่ามากขึ้น และกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จะใช้หลัก “ภูมิเศรษฐศาสตร์” คือ ใช้ภูมิศาสตร์ให้เป็นเศรษฐกิจ
ในวันนี้เราอยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวแหล่งทุเรียนภูเขาไฟ และผลไม้ตามฤดูกาลที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทั้งยังตั้งอยู่บนถนนเส้นหลักที่นักเดินทางใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ดังนั้น เป็นโจทย์ที่ทุกหน่วยงาน ซึ่งเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชน ภาคประชาชน เราจะทำอย่างไรให้สามารถเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยว และสินค้าชุมชน ให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้พี่น้องประชาชนมีรายได้ที่มั่นคง ยังยืน สามารถพึ่งตนเองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อโควิด-19
ซึ่ง นางกัญณพัช จันทะมั่น ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านกระมัลพัฒนา ได้นำเสนอจุดเริ่มต้นความเป็นมาของกลุ่ม รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และกิจกรรมเด่นที่เป็นอัตลักษณ์และเสน่ห์ของกลุ่มและชุมชนที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยี่ยมชมงานในลักษณะกรุ๊ปทัวร์ได้ นอกจากนี้กลุ่มยังมีบริการที่พักโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการพักค้าง ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นอีกจุดหนึ่งของกลุ่มในการเป็นศูนย์เรียนรู้ กำเนิด “ผ้าศรีลาวา” ผ้าทอย้อมดินภูเขาไฟ ทั้งนี้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมการย้อมผ้าสีธรรมชาติ “ศรีลาวา” ที่ใช้ดินภูเขาไฟ ที่เป็นแหล่งกำเนิดทุเรียนภูเขาไฟ มาย้อม และใช้เทคนิคการย้อมสีให้คงทน รวมถึงเรื่องราวของผ้าที่ใช้ไม้มงคล 9 ชนิด มาเป็นส่วนหนึ่งในการย้อมผ้าให้สีคงทน มีกลิ่นหอม มีเรื่องราวซึ่งกลุ่มได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มผช. เป็นเครื่องหมายการันตีคุณภาพสินค้า
มีกิจกรรมการทอผ้าด้วยกี่กระตุก “ผ้าเหยียบลายลูกแก้ว” ผ้าอัตลักษณ์จังหวัดศรีสะเกษ กิจกรรมการแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย และการแส่วผ้า เพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ และการวางรูปแบบในการรองรับการเยี่ยมชมของนักท่องเที่ยว โดยในงานมีการเดินแบบสินค้าแปรรูปจากผ้าทอ “ศรีลาวา” จากเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอขุนหาญ และการจัด OTOP Mobile ของเครือข่ายกลุ่มผู้ผลิตผู้ประกอบการ OTOP สร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้า OTOP ซึ่งมียอดจำหน่าย 32,020 บาท ด้วย.
พิสิษฐ์ สิริวิริยะธนา ศรีสะเกษ // รายงาน